จิตแพทย์ชี้คนรวยอารมณ์แปรปรวน

คนรวย-นักการเมือง ควรเช็คอาการและหายาแก้โรคแปรปรวน หากชะล่าใจหวั่นเสี่ยงอันตราย

จิตแพทย์เตือนคนที่มีอารมณ์ร่าเริง ชอบทำบุญ เที่ยวกลางคืน ช้อปปิง ขยัน มีความคิดสร้างสรรค์ ล้วนเสี่ยงเป็นโรคอารมณ์แปรปรวน พบสถิติมีผู้ป่วยในไทยนับแสน ระบุมักเป็นคนรวยและนักการเมือง และไม่ได้รับการรักษาเนื่องจากไม่คิดว่าเป็นอาการของโรคแปรปรวน ควรหายาป้องกันหากปล่อยไว้อาจเกิดอันตรายได้

รศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ กรรมการสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช รพ.รามาธิบดี เปิดเผยว่า ขณะนี้พบคนไทยประมาณ 10-15% มีปัญหาสุขภาพจิต แต่มีเพียง 1% เท่านั้นที่มาพบแพทย์ และในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคอารมณ์แปรปรวนจำนวนหลายแสนคน ส่วนใหญ่อายุ 15-24 ปี และผู้ป่วยร้อยละ 25 เกิดอาการครั้งแรกก่อนอายุ 20 ปี

สาเหตุของโรคเป็นโรคอารมณ์แปรปรวนหรือทางการแพทย์เรียกว่า ไบโพลาร์ เกิดจากกรรมพันธุ์ และความผิดปกติของสมอง รวมถึงปัจจัยด้านความเครียด การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ และการอดนอนทำให้ผู้ป่วยมีอาการกำเริบ โดยอาการของโรคจะสามารถสังเกตได้จาก มีอาการร่าเริงหรือซึมเศร้าเกินปกติที่เคยเป็น จะแสดงอาการดังกล่าวประมาณ 4-6 เดือน จากนั้นจะกลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยหรือคนรอบข้าง ส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าป่วยเป็นโรคดังกล่าว

รศ.ดร.รณชัย กล่าวว่า ลักษณะอาการของผู้ป่วยจะค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป เกิดในบุคคลที่มีฐานะดี เนื่องจากอาการของโรคจะทำให้เป็นคนที่มีความคล่องแคล่ว ขยันหมั่นเพียรผิดปกติ ทำให้สามารถสร้างรายได้เป็นผู้ที่มีฐานะ นอกจากนี้ ลักษณะอาการคือ เช่น อารมณ์ดีผิดปกติ พูดคุยมากขึ้น สังคมเก่ง มีความคิดสร้างสรรค์ดี อยากทำโครงการต่างๆ มากมาย ชอบเที่ยวกลางคืน เพราะมีอารมณ์ร่าเริงเกินปกติ ไม่มีเบื่อ อาจจะลุกลามไปถึงการสำส่อนทางเพศ เพราะโรคดังกล่าวทำให้มีอารมณ์ทางเพศมากขึ้น ใช้เงินไปไม่มีเหตุผล ซึ่งบางรายที่ตนรับรักษา ถึงขั้นแจกเงินจากเดิมที่เป็นคนตระหนี่ การใช้ความรุนแรงทะเลาะเบาะแว้งในครอบครัว บางครั้งก็มาจากการที่มีอารมณ์แบบสุดขั้วเช่นนี้ บางรายที่มีอาการซึมเศร้าถึงขั้นฆ่าตัวตาย ซึ่งจากสถิติพบว่าคนไข้ 1 ใน 5 สามารถฆ่าตัวตายได้สำเร็จ

ตั้งข้อสังเกตได้ว่าผู้ที่ตั้งใจ ขยันทำงาน จนประสบความสำเร็จและมีฐานะที่ร่ำรวย มีโอกาสเสี่ยงต่อโรคอารมณ์แปรปรวนโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากอาจมีความขยันมากผิดปกติ แต่อย่างไรก็ตามไม่ใช่จะเป็นทุกคน และส่วนใหญ่คนไข้ที่ตนรับการรักษาอยู่นั้น ชอบทำบุญด้วยเงินเป็นจำนวนมาก เมื่อหายกลับต้องเสียดาย หรือบางรายเบิกเงินในช่วงระยะเวลา 3 วัน จำนวน 3 ล้านบาท เพื่อมาซื้อสินค้าต่างๆ เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่ทำให้สบายใจ เมื่อได้รับการรักษาจึงเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สำหรับคนไข้ที่ตนรักษาส่วนใหญ่มีประมาณ 3-4 คนต่อสัปดาห์ มีทุกอาชีพ รวมถึงนักการเมืองด้วย ซึ่งขณะนี้ตนรักษาอยู่ประมาณ 2 ราย แต่เจ้าตัวไม่ทราบว่ารักษาอยู่ มีคนจนที่ป่วยด้วยเช่นกันแต่น้อย รศ.นพ.รณชัย กล่าว

รศ.นพ.รณชัย กล่าวต่อว่า การรักษาโรคดังกล่าวสามารถรักษาด้วยการใช้ยาปรับอารมณ์ให้คงที่ (Mood Stabilizer) ซึ่งไม่หายขาด แต่ต้องทานยาเพื่อคุมอาการอย่างต่อเนื่อง โดยการรักษาแบ่งเป็น 2 ช่วง ในช่วงแรก ประมาณ 1-2 เดือน ทานยาเพื่อให้อาการกลับสู่ปกติ ช่วงที่สอง เป็นการรักษาอาจจะ 1-2 เดือนต่อครั้ง เพื่อคุมอาการไม่ให้รุนแรงเพิ่ม ทรงตัวไปเรื่อยๆ และไม่กลับมารุนแรงซ้ำ อย่างไรก็ตามรักษาไม่หายขาด

ทั้งนี้ผู้ป่วยในครอบครัว คนรอบตัวต้องเข้าใจและช่วยกันป้องกันผู้ป่วยในช่วงก่อนโรคกำเริบรุนแรงขึ้น ผู้ป่วยสามารถรับการรักษาได้กับจิตแพทย์ที่รพ.ทุกแห่ง ซึ่งการรักษาโรคนี้ต้องทานยา ซึ่งค่ารักษาไม่มาก เพียงวันละประมาณ 10-20 บาทต่อวัน และในโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค ครอบคลุมอยู่ด้วย


ข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ "กรุงเทพธุรกิจ"