PANIC DISORDER

โรคแพนิค (Panic Disorder) (infomental)
โดย : ผศ.นพ.สเปญ อุ่นอนงค์

โรคแพนิค เป็นโรคชนิดหนึ่งที่มีคนเป็นกันมากและเป็นกันมานานแล้วแต่ประชาชนทั่วไปมัก ไม่ค่อยรู้จักและยังไม่มีชื่อโรคอย่างเป็นทางการในภาษาไทย บางคนอาจเรียกโรคนี้ว่า "หัวใจอ่อน" หรือ " ประสาทลงหัวใจ" แต่จริงๆแล้วโรคนี้ไม่มีปัญหาอะไรที่หัวใจ และ ไม่มีอันตราย เวลามีอาการผู้ป่วย จะรู้สึกใจสั่นหัวใจเต้นแรง อึดอัด แน่นหน้าอก หายใจไม่ทัน หรือหายใจไม่เต็มอิ่ม ขาสั่น มือสั่น มือเย็น บางคนจะมีอาการวิงเวียนหรือมึนศีรษะ ท้องไส้ปั่นป่วน ขณะมีอาการผู้ป่วยมักจะรู้สึกกลัวด้วย

โดยที่ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะกลัวว่าตัวเองกำลังจะตาย กลัวเป็นโรคหัวใจ บางคนกลัวว่าตนกำลังจะเสียสติหรือเป็นบ้า อาการต่างๆมักเกิดขึ้นทันทีและค่อยๆ รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนเต็มที่ในเวลาประมาณ 10 นาที คงอยู่สักระยะหนึ่ง แล้วค่อยๆ ทุเลาลง อาการมักจะหายหรือเกือบหายในเวลาประมาณครึ่งชั่วโมง หลังจากอาการแพนิคหายผู้ป่วยมักจะเพลีย และในช่วงที่ไม่มีอาการผู้ป่วยมักจะกังวลกลัวว่าจะเป็นอีก

อาการ แพนิค จะเกิดที่ไหนเมื่อไรก็ได้และคาดเดาได้ยากแต่ผู้ป่วยมักพยายามสังเกตุ และเชื่อมโยงหาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดอาการเพื่อที่ตนจะได้หลีกเลี่ยงและ รู้สึกว่าสามารถควบคุมมันได้บ้าง เช่น ผู้ป่วยบางราย ไปเกิดอาการขณะขับรถก็จะไม่กล้าขับรถ บางรายเกิดอาการขณะกำลังเดินข้ามสะพานลอยก็จะไม่กล้าขึ้นสะพานลอย ผู้ป่วยบางรายไม่กล้าไปไหนคนเดียวหรือไม่กล้าอยู่คนเดียวเพราะกลัวว่าถ้า เกิดอาการขึ้นมาอีกจะไม่มีใครช่วย ในบางรายอาจมีเหตุกระตุ้นจริงๆบางอย่างได้ เช่น การออกกำลังหนักๆ หรือเครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา น้ำโคล่า ในกรณีแบบนี้ควรหลีกเลี่ยงสิ่งต่างๆ เหล่านี้

ขณะเกิดอาการผู้ป่วยมักกลัวและรีบไปโรงพยาบาลซึ่งแพทย์ที่ห้องฉุกเฉินมัก ตรวจ ไม่พบความผิดปกติและมักได้รับการสรุปว่าเป็นอาการเครียดหรือคิดมาก ซึ่งผู้ป่วยก็มักยอมรับไม่ได้และปฏิเสธว่าไม่ได้เครียด เมื่อเกิดอาการอีกในครั้งต่อมาผู้ป่วยก็จะไปโรงพยาบาลอื่นและมักได้คำตอบแบบ เดียวกัน ผู้ป่วยหลายๆ รายไปปรึกษาแพทย์เพื่อเช็คสุขภาพ โดยเฉพาะหัวใจซึ่งก็มักได้รับการตรวจเช็ค ร่างกายอย่างละเอียดและไม่พบความผิดปกติอะไรที่สามารถอธิบายอาการดังกล่าว ได้

ซึ่งก็ยิ่งทำให้ผู้ป่วยกังวลมากขึ้นไปอีก อาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นเรียกว่า อาการแพนิค (panic attack) ซึ่งแปลว่า "ตื่นตระหนก" เราจะสังเกตุได้ว่าอาการต่างๆ จะคล้ายกับอาการของคนที่กำลังตื่นตระหนก ในโรคแพนิคผู้ป่วยจะเกิดอาการแพนิคนี้ขึ้นมาเอง โดยไม่มีเหตุกระตุ้น และคาดเดาไม่ถูกว่าเมื่อไรจะเป็นเมื่อไรจะไม่เป็น การไม่รู้ว่าตนกำลังเป็นอะไรจะยิ่งเพิ่มความตื่นตระหนกให้รุนแรงขึ้น อาการแพนิค ไม่มีอันตราย อาการนี้ทำให้เกิดความไม่สบายเท่านั้นแต่ ไม่มีอันตราย สังเกตุได้จากการที่ผู้ป่วยมักจะ มีอาการมานาน บางคนเป็นมาหลายปี เกิดอาการแพนิคมาเป็นร้อยครั้ง แต่ก็ไม่เห็นเป็นอะไรสักที บางคนเป็นทีไรต้องรีบไปโรงพยาบาล "แทบไม่ทัน" แต่ไม่ว่ารถจะติดอย่างไรก็ไป "ทัน" ทุกครั้งเพราะอาการ แพนิค ไม่มีอันตราย

ในปัจจุบันเราพอจะทราบว่าผู้ป่วยโรคแพนิคมีปัญหาในการทำงานของสมองส่วนที่ทำ ให้เกิดอาการ “ตื่นตระหนก” โดยเป็น ความผิดปกติของสารสื่อนำประสาท บางอย่างเราจึงสามารถรักษาโรคนี้ได้ด้วยยา ยาที่ใช้รักษาโรคนี้จะมี 2 กลุ่ม คือ

1. ยาป้องกัน เป็นยาที่ออกฤทธิ์ช้า ปรับยาครั้งหนึ่งต้องรอ 2-3 สัปดาห์ จึงจะเริ่มเห็นผลคืออาการแพนิคจะห่างลง และเมื่อเป็นขึ้นมาอาการก็จะเบาลงด้วย เมื่อยาออกฤทธิ์เต็มที่ผู้ป่วยจะไม่มีอาการแพนิคเกิดขึ้นเลย ยากลุ่มนี้จะเป็นยาที่ใช้รักษาโรคซึมเศร้าบางตัว เช่น เล็กซาโปร (lexapro) โปรแซก (prozac) โซลอฟ (zoloft) ยากลุ่มนี้ไม่ทำให้เกิดการติดยาและสามารถหยุดยาได้เมื่อโรคหาย ในการรักษาด้วยยาเราจะจ่ายทั้งยาป้องกันและยาแก้

เพราะในช่วงแรกๆ ยาป้องกันยังออกฤทธิ์ไม่เต็มที่ ผู้ป่วยจะยังมีอาการจึงยังต้องใช้ยาแก้อยู่ เมื่อยาป้องกันเริ่มออกฤทธิ์ผู้ป่วยจะกินยาแก้น้อยลงเอง แพทย์จะค่อยๆเพิ่มยาป้องกันจนผู้ป่วย "หายสนิท" คือไม่มีอาการเลย แล้วให้ผู้ป่วยรับประทานยาต่อไปเป็นเวลา 8-12 เดือน หลังจากนั้นจะให้ผู้ป่วยค่อยๆ หยุดยา ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสามารถหยุดยาได้โดยไม่มีอาการกลับมาอีก แต่ก็มีบางรายที่มีอาการอีกเมื่อลดยาลง ในกรณีแบบนี้เราจะเพิ่มยากลับขึ้นไปใหม่แล้วค่อยๆ ลดยาลงช้าๆ

2. ยาแก้ เป็นยาที่ออกฤทธิ์เร็ว ใช้เฉพาะเมื่อเกิดอาการขึ้นมา เป็นทีกินที กินแล้วหายเร็ว ได้แก่ยาที่คนทั่วไปรู้จักกันในนามของยา “กล่อมประสาท” หรือยา “คลายกังวล” เช่น แวเลี่ยม (valium) แซแนก (xanax) อะติแวน (ativan) ยาประเภทนี้มีความปลอดภัยสูง (แปลว่าไม่มีพิษ ไม่ทำลายตับ ไม่ทำลายไต) แต่ถ้ารับประทาน ติดต่อกันนานๆ (2-3 สัปดาห์ขึ้นไป) จะเกิดการติดยาและเลิกยากและเมื่อหยุดยากระทันหันจะเกิดอาการขาดยา ซึ่งจะมีอาการเหมือนอาการแพนิค ทำให้แยกแยะไม่ได้ว่าหายหรือยัง ดังนั้นแพทย์จะเน้นกับผู้ป่วยว่าให้กินเฉพาะเมื่อมีอาการเท่านั้น ยังไม่เป็นห้ามกิน รอให้เริ่มมีอาการแล้วค่อยกินก็ทันเพราะมันออกฤทธิ์เร็ว
Panic disorder จัดเป็น anxiety disorders ชนิดที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะผู้ป่วยมักมาพบแพทย์อย่างฉุกเฉินเมื่อเกิดอาการ panic แต่ละครั้ง เนื่องจากกลัวว่าจะเสียชีวิตในทันที หรือคิดว่าเป็นโรคร้ายแรง WHO รายงานว่ามีอุบัติการณ์ของโรคนี้ราวร้อยละ 1.1 ในประเทศไทยเองมีการศึกษาพบว่า แพทย์สามารถให้การวินิจฉัยและรักษาโรคนี้ได้อย่างถูกต้องที่ห้องฉุกเฉินมีจำนวนต่ำมาก เพียง 1 ใน 120 รายของผู้ป่วยโรคนี้เท่านั้น ผลที่ตามมาของโรคนี้ยังก่อให้เกิดภาวะหรือโรคทางจิตเวช อื่นๆ ตามมาได้อีกหลายประการ  เช่น major depression, suicide, alcohol and drug abuse หรือกลัวไม่กล้าไปไหนคนเดียว (agoraphobia ) เป็นต้น อันก่อความเสียหายแก่ผู้ป่วยและครอบครัวทับถมยิ่งขึ้น ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป

อาการ

เดิมเคยเรียกโรคนี้ว่า acute anxiety ตามความเฉียบพลันของอาการ หรือตามการจำแนกโรคขององค์การอนามัยโลกเรียกว่า episodic paroxysmal anxiety disorder เนื่องจากอาการเกิดรุนแรงเป็นช่วงๆ

อายุเฉลี่ยของผู้ป่วยโรคนี้คือประมาณ 25 ปี  แต่ก็พบผู้ป่วยได้ทั้งในเด็กและวัยกลางคน

ตามเกณฑ์วินิจฉัยของสมาคมจิตแพทย์อเมริกันปี 1994 นั้น โรค panic disorder มีลักษณะที่สำคัญ 4 ประการ ดังนี้

1) มี panic attack (ได้แก่ การเกิดอาการต่อไปนี้ขึ้นอย่างเฉียบพลัน : แน่นหน้าอก ใจสั่น กลัว หายใจไม่ออก เวียนศีรษะ จุกแน่นท้อง มือเท้าเย็นชา รู้สึกเหมือนจะควบคุมตัวเองไม่ได้ เหมือนตัวเองกำลังจะตายหรือจะเป็นบ้า) ที่มีลักษณะเริ่มเป็นอย่างรุนแรงและรวดเร็ว โดยถึงจุดสูงสุดภายใน 10 นาที แล้วความรุนแรงจะค่อยๆ ลดลงจนหายไปใน 60 นาที

2) เกิดอาการบ่อยๆหรือหากเป็นเพียง 1 ครั้ง ก็ต้องทำให้ผู้ป่วยมีความกลัวว่าจะเป็นซ้ำ

3) ผู้ป่วยไม่สามารถคาดล่วงหน้าได้ว่า จะเกิด panic attack ขึ้นอีกครั้งเมื่อใด(unexpected) มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่เกิดอาการขณะนอนหลับจนต้องตื่นขึ้น

4) อาการทั้งหมดนี้ต้องไม่ได้เกิดจากยา สารต่างๆ โรค หรือสาเหตุทางกายอื่นๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการ panic ได้

จะเห็นได้ว่า อาการ panic นั้น คล้ายกับอาการของโรคหัวใจ โรคทางเดินหายใจ โรคทางเดินอาหาร หรือโรคของระบบประสาทการทรงตัวอย่างมาก เนื่องจากพบว่ามีการเชื่อมโยงระหว่างศูนย์ควบคุมระบบประสาทอัตโนมัติกับระบบ อวัยวะดังกล่าว ผู้ป่วยโรคนี้ส่วนใหญ่จึงไปพบแพทย์สาขาดังกล่าว มีรายงานว่า ผู้ป่วยในคลินิกโรคหัวใจที่มีอาการดังกล่าว แล้วตรวจคลื่นหัวใจหรือแม้แต่สวนเส้นเลือดหัวใจผลเป็นปกติ แท้จริงเป็น panic disorder กว่าร้อยละ 50-60

ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการของ hyperventilation syndrome ตามหลัง panic attack ดังนั้นแพทย์จึงควรถามถึงประวัติอาการของ panic disorder ในผู้ป่วย hyperventilation ทุกราย

การดำเนินโรค

panic disorder แบ่งออกเป็นระยะต่างๆ ( stages ) ตามลำดับ (หากไม่ได้รับการรักษา) ดังนี้

ระยะที่ 1 : limited symptoms attacks อาการยังเป็นไม่มาก ไม่ครบเกณฑ์ของ panic disorder

ระยะที่ 2 : panic disorder มีอาการต่างๆเข้าเกณฑ์การวินิจฉัย

ระยะที่ 3 : hypochondriasis เชื่อว่าตนมีโรคร้ายแรงบางอย่างแต่แพทย์ตรวจไม่พบ เช่น เป็นโรคปอด โรคหัวใจ หรืออัมพาต ทำให้ไม่กล้าทำงานตามปกติ และมักเวียนไปให้แพทย์ตรวจยืนยัน

ระยะที่ 4 : limited phobic avoidance เริ่มกลัวและหลีกเลี่ยงต่อสถานที่หรือสถานการณ์ซึ่งผู้ป่วยรู้สึกว่าอาจทำให้เกิด panic ได้ เช่น agoraphobia คือไม่กล้าไปไหนคนเดียวซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยไม่อาจไปทำงานหรือดำเนินชีวิตประจำวันได้

ระยะที่ 5 : extensive phobic avoidance มีความกลัวและหลีกเลี่ยงมากขึ้น

ระยะที่ 6 : secondary depression อาจเป็นเพียงอารมณ์หรือถึงระดับเป็น major depression อันเป็นผลจากการเป็น panic disorder มานาน แต่ผู้ป่วยยังไม่ทราบสาเหตุ ไม่หาย ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ ทั้งที่ร่างกายแข็งแรง ผิดหวังและละอายกับตนเองและครอบครัว บางรายอาจหันไปใช้ยาเสพติดหรือดื่มสุราหรือบางรายพยายามฆ่าตัวตาย

ตารางที่ 1 ภาวะทางร่างกายและยาที่ทำให้เกิดอาการ anxiety


1. Medications and drugs
caffeine, stimulants, alcohol or sedative withdrawal, opiates,
cocaine, marijuana, hallucinogens, steroids, theophylline,
sympathomimetics, thyroid replacement, dopamine
2. Cardiovascular disease
Arrhythmias, congestive heart failure, pulmonary edema, Coronary artery disease, mistral valve prolapsed
3. Respiratory disease
Asthma, COPD, pulmonary embolism, pneumothorax
4. Endocrine and metabolic disorders
hyperthyroidism, hypothyroidism, hypoglycemia, Cushing’s disease, anemia, hypercalcemia, hypocalcemia, carcinoid, insulinoma, hyperkalemia, hypernatremia
5. Neurological disorders
Seizure disorder, vertigo, tumor, akathisia
6. Others
SLE, peptic ulcer

สาเหตุ
panic disorder เป็นผลจากทั้งปัจจัยทางชีวภาพ จิตใจ และพฤติกรรมเรียนรู้ ในช่วงทศวรรษหลังๆ มีการศึกษาจนเข้าใจถึงปัจจัยด้านชีวภาพมากขึ้น ยังผลให้สามารถใช้ยารักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าเดิม

1. สาเหตุทางชีวภาพ พบว่า panic disorder เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับด้านพันธุกรรม แม้ว่ายังไม่สามารถระบุตำแหน่งของยีนที่เป็นปัญหาได้ชัดเจนก็ตาม

การศึกษาทางระบบสารสื่อนำประสาทพบว่า ผู้ป่วยมีการหลั่งของ norepinephrine จาก locus ceruleus nucleus บริเวณ floor ของ 4th ventricle สูงขึ้น

2. สาเหตุด้านจิตใจ พบว่าผู้ป่วยมักกำลังเผชิญกับ separation anxiety คล้ายกับเหตุการณ์ในวัยเด็กอีกครั้ง

3. สาเหตุทางพฤติกรรมเรียนรู้ มักใช้ในการอธิบาย agoraphobia ซึ่งเกิดตามหลัง panic disorder

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยแต่ละรายเกิดโรคนี้โดยมีบทบาทของแต่ละสาเหตุหนักเบาไม่เท่ากัน เช่น บางคนกำลังมีความกังวลกับเรื่องในชีวิตมาก โดยที่ไม่มีความเสี่ยงทางพันธุกรรมมาก่อน ในขณะที่บางคน อาจไม่มีเรื่องกังวลกระตุ้นเลย แต่เกิดมีโรคเพราะปัจจัยทางชีวภาพก็ได้ พบว่าผู้ป่วยบางคนเกิดอาการเมื่อมีการกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติจากภายในร่างกายเองขึ้นก่อน เช่น การหิว แน่นท้อง แล้วส่งสัญญาณประสาทไปกระตุ้น locus ceruleus อีกต่อหนึ่ง

การรักษา

การดูแลทางด้านจิตใจ

* ควรแสดงความเข้าใจและยอมรับในอาการของผู้ป่วยว่ารุนแรงตามที่เขารู้สึกจริง ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญมากในการรักษา ไม่ใช่ “ไม่เป็นอะไร อย่าคิดมาก” อย่างที่เราตรวจพบ อาจกล่าวว่า “หมอเข้าใจว่า เวลาเป็นคงน่ากลัว ทรมานมาก“
* ควรแจ้งให้ผู้ป่วยทราบว่า อาการที่เป็นจะไม่มีอันตรายถึงชีวิต เพราะไม่มีโรคทางกายที่รุนแรง การเกิดอาการเป็นเพราะระบบประสาทอัตโนมัติซึ่งควบคุมอวัยวะภายในต่างๆ ทำงานไวเกินปกติ จึงตรวจไม่พบโรคอะไรที่หัวใจ หรือปอดตามที่เขาสงสัย อาจวาดรูปสมอง โยงกับรูปหัวใจ หรืออวัยวะที่ผู้ป่วยเกิดอาการมากๆ ให้ดู เพื่อช่วยให้เข้าใจง่ายขึ้น
* หากผู้ป่วยปฏิเสธว่า ตนไม่มีเรื่องเครียด ไม่ต้องคาดคั้นว่า ผู้ป่วยต้องมีเรื่องเครียดแน่นอน เนื่องจากบางรายอาจมีอาการขึ้นเองจากปัจจัยทางชีวภาพของเขา หรือบางรายก็ยังกังวลกับอาการ panic เกินกว่าจะเชื่อมโยงได้ว่า ความกังวลในชีวิตทำให้เขามีอาการ panic ได้
* ไม่ควรบอกผู้ป่วยว่าเป็นโรคหัวใจอ่อน หรือประสาทหัวใจ หรือโรคใดๆ ที่ตรวจไม่พบจริง
* ให้ความมั่นใจกับผู้ป่วยว่า โรคนี้รักษาหายได้แล้วแจ้งแผนการรักษา (ที่จะได้กล่าวต่อไป) ให้ผู้ป่วยทราบแนวทางไว้
* สอนการปฏิบัติตนเมื่อเกิดอาการเพื่อให้ผู้ป่วยช่วยตัวเองได้บ้าง เช่น การหายใจเข้าออกลึกๆช้าๆ การหายใจในถุงกระดาษหากมี hyperventilation เป็นอาการเด่น หรือการกินยาที่แพทย์ให้พกติดตัวไว้
* แพทย์อาจขอพบญาติของผู้ป่วยเพื่ออธิบายหรือปรับเจตคติที่มีต่อผู้ป่วยให้ดีขึ้น ( เพื่อมิให้มองว่าผู้ป่วยแกล้งทำเพื่อหลบเลี่ยงความรับผิดชอบหรือเป็นเพียงผู้ป่วยคิดมากไปเอง )

สำหรับผู้ที่เกิดอาการ agoraphobia นั้น จำเป็นต้องนำพฤติกรรมบำบัดมาช่วยฝึกผู้ป่วย ให้สามารถออกจากบ้านไปไหนคนเดียวได้อีกครั้ง โดยควบคู่ไปกับการรักษาด้วยยาเนื่องจากมีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อย ซึ่งถึงแม้จะหายจากอาการ panic แล้ว แต่ก็ยังมี agoraphobia อยู่ เพราะได้กลายเป็นพฤติกรรมเงื่อนไขไปแล้ว ให้ฝึกโดยมีหลักการผ่อน คลายกล้ามเนื้อ หรือให้รับประทานยาคลายกังวลก่อนเริ่มฝึกราว 15-30 นาที ให้ผู้ป่วยเริ่มออกจากบ้านคนเดียวหรือมีผู้อื่นไปด้วยจนถึงระยะทางไกลที่สุดเท่าที่ทนได้แล้วพัก เพิ่มระยะทางขึ้นทีละน้อยทุกวัน โดยผู้ป่วยจดบันทึกผลการปฏิบัติ แล้วนำมาให้แพทย์ทุกครั้งเมื่อนัดตรวจ
การรักษาด้วยยา
มียากลุ่ม benzodiazepine ที่มี potency สูง และยาต้านอารมณ์เศร้าหลายชนิดที่ได้รับการศึกษาทดลองแล้วสามารถรักษาโรค panic disorder ได้ผลดี ตามตารางที่ 2
 ตารางที่ 2 ยารักษา panic disorders 
 generic name, trade name, initial dose, max dose (mg/day)
Benzodiazepine
lorazepam, Ativan, 0.5 mg tid., 4-6
alprazolam, Xanax, 0.25mg tid., 4-6
clonazepam, Rivotril, 0.5 mg bid, 1-4
Antidepressants
imipramine, Tofranil, 25 mg hs, 75-150
clomipramine, Anafranil, 25 mg hs, 75-150
fluoxetine, Prozac, 20 mg am, 40-80
fluvoxamine, Faverine 50 mg bid, 150-300
 สำหรับ diazepam หรือ clorazepate ซึ่งเป็นยาที่ใช้แพร่หลายนั้น สามารถใช้รักษาได้ แต่ต้องใช้ขนาดสูงถึง 20-30 มก.ต่อวัน (ประมาณว่า 44 มก. ของ diazepam เท่ากับ 4 มก. ของ alprazolam ส่วน clorazepate ต้องใช้ขนาดสูงกว่า diazepam เกือบเท่าตัว ) ซึ่งผู้ป่วยอาจทนฤทธิ์ข้างเคียงเช่น ฤทธิ์ทำให้ง่วงซึมไม่ได้ 41 ส่วนยาต้านอารมณ์เศร้าอื่นๆ นั้น ผลการทดลองยังไม่แน่นอน
 ตารางที่ 3 เปรียบเทียบคุณสมบัติของ alprazolam กับ clonazepam 

Alprazolam
Clonazepam
Duration of effect
Dosing frequency
Interdose rebound
symptoms
Acute withdrawal effects
Onset of effect
Abuse potential
Short
OD
++

++

Fast
++
Long
BID
+

+

Intermediate
+

ดังนั้น ในการรักษาระยะเริ่มต้น ซึ่งจำเป็นต้องระงับอาการของโรคให้หมดไปก่อน จึงมักเริ่มให้ benzodiazepine แล้วปรับขนาดยาตามอาการและอาการข้างเคียงทุกสัปดาห์จนควบคุมอาการได้หมด (มักใช้เวลาราว 4-6 สัปดาห์) คงยาในขนาดสูงสุดนั้นได้ราว 4-8 สัปดาห์ แล้วลด benzodiazepine ลงจนถึงขนาดต่ำที่สุดที่สามารถควบคุมอาการได้ไว้จนครบ 6 เดือน จากนั้นลดขนาดลงช้าๆ ร้อยละ 25 ต่อสัปดาห์ หรือน้อยกว่านี้ จนหมดในเวลา 4-8 สัปดาห์ อาจให้ยาไว้รับประทานเฉพาะเมื่อเกิดอาการ การให้แต่ benzodiazepine เพียงอย่างเดียวสามารถรักษา panic disorder ได้ แม้จะให้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็ไม่พบว่ามีอาการดื้อยา (tolerance) จนต้องเพิ่มขนาดของ benzodiazepine
การใช้ยาต้านอารมณ์เศร้านั้นมีหลักการในการปรับเพิ่มและลดขนาด คล้ายคลึงกับการใช้ benzodiazepine พึงสังเกตว่า ขนาดเริ่มต้นของยาต้านอารมณ์เศร้า ในการรักษา panic disorder นั้นต่ำกว่าขนาดเริ่มต้นในการรักษา major depression มาก เว้นแต่ผู้ป่วยมีอาการของทั้ง 2 โรคนี้ จึงเริ่มให้ยาในขนาดที่รักษา major depression โดยทั่วไป การลดยากลุ่ม TCA ลงอย่างรวดเร็ว อาจเกิด cholinergic rebound เช่น กังวล กระวนกระวาย นอนไม่หลับ ได้
ยากลุ่ม SSRI โดยเฉพาะ fluoxetine อาจทำให้อาการของโรคเลวลงได้โดยเฉพาะในสัปดาห์แรกของการได้ยา แต่ทั่วไป สามารถรักษา panic disorder ในช่วงถัดมาได้อย่างดีไม่ต่างจาก TCA
ในบางครั้ง เราอาจเริ่มให้ยาทั้งสองกลุ่มไปพร้อมๆกัน ทำให้ไม่จำเป็นต้องให้ยาแต่ละชนิดในขนาดสูงจนเกิดผลข้างเคียงที่ผู้ป่วยทนไม่ได้ จนผ่านไป 2-4 สัปดาห์ซึ่งเราควบคุมอาการได้ดีแล้ว และยาต้านอารมณ์เศร้าได้มีเวลาออกฤทธิ์เต็มทแล้ว จึงค่อยๆลด benzodiazepine ลง เหลือยาต้านอารมณ์เศร้าเพียงกลุ่มเดียวไว้ควบคุมอาการจนครบ 6-9 เดือนดังที่กล่าวแล้ว
มักแนะนำให้ผู้ป่วยมี alprazolam หรือ lorazepam ติดตัวไว้รับประทานหากมีอาการ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมั่นใจมากขึ้นว่า สามารถดูแลตนเองได้ ไม่ต้องไปหาแพทย์เพื่อฉีดยาทุกครั้ง
หากแพทย์ได้ทำการรักษาผู้ป่วยโรค panic disorder ราว 4-6 สัปดาห์ แล้ว ยังไม่สามารถควบคุมอาการได้ หรือโรคมีลักษณะ recurrent หรือ chronic หรือพบว่าผู้ป่วยมีปัญหาด้านจิตใจหรือบุคลิกภาพอันอาจเกี่ยวข้องกับโรค เช่น เป็นผู้วิตกกังวลง่าย หรือคาดหวังกับเรื่องต่างๆสูง อันจะเป็นเหตุให้เกิดความกังวลอยู่เรื่อยๆ ควรส่งผู้ป่วยมาพบจิตแพทย์เพื่อประเมินให้การรักษาต่อไป 
propranolol ซึ่งช่วยอาการกังวลทั่วไป ไม่อาจรักษา panic disorder ได้หากใช้เป็นยาหลักเพียงชนิดเดียว
   

โรคทางจิตเวชที่เกิดร่วม

กว่าร้อยละ 60 ของผู้ป่วย panic disorder มีโรคซึมเศร้า ร้อยละ 38 ทำงานได้ไม่เต็มที่เนื่องจากเชื่อว่าตนเองมีโรคทางกายร้ายแรงที่ตรวจไม่พบ ต้องพึ่งพาผู้อื่นทางการเงินเกือบหนึ่งในสี่ และราวร้อยละ 28 ต้องเวียนไปรักษาที่ห้องฉุกเฉินบ่อยๆ

ตัวอย่างผู้ป่วย

วารุณีทำงานเป็นตำรวจหญิงอยู่ที่สถานีตำรวจแห่งหนึ่งในจังหวัดนครนายก เริ่มมีอาการแน่นหน้าอก ใจสั่น หายใจไม่ออก มือเท้าชา ขึ้นทันทีขณะนั่งพิมพ์ดีดอยู่ เพื่อนได้นำส่งโรงพยาบาลแพทย์ได้ตรวจแล้วบอกว่า ไม่เป็นอะไร และให้ยามารับประทาน ผู้ป่วยยังมีอาการดังกล่าวอีกหลายครั้งโดยไม่เลือกเวลา ทั้งขณะนอนดูโทรทัศน์ ทำงาน หรือนอนหลับ จนไม่กล้าไปไหนคนเดียวเนื่องจากคิดว่าตนเองเป็นโรคหัวใจและจะเกิดอาการจนตายได้ ผู้ป่วยได้รับการตรวจและส่งตรวจพิเศษตามคลินิกและ โรงพยาบาลอีกหลายแห่งได้รับคำตอบต่างๆ กันเช่น เป็นโรคประสาท โรคเครียด หรือหัวใจอ่อน จนมียาเป็นถุงใหญ่ แต่อาการก็ไม่เคยหายขาด หลังจากมีอาการอยู่ 1 ปี ผู้ป่วยรู้สึกท้อแท้เบื่อหน่ายกับโรคที่เป็นมากจนทำงานไม่ได้ ญาติๆจึงแนะนำให้มารักษาต่อที่กรุงเทพฯ

แพทย์ทั่วไปได้ตรวจและส่งตรวจพิเศษเท่าที่จำเป็น แต่ไม่พบสิ่งผิดปกติ จึงได้เริ่มต้นรักษาด้วยยา alprazolam ปรากฎว่าอาการดีขึ้นมาก แต่ไม่หายหมดและออกจากบ้านไปไหนคนเดียวไม่ได้ จากการถามถึงเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดอาการครั้งแรกพบว่า อาการเกิดหลังจากที่สามีของผู้ป่วยมักขับรถมาเยี่ยมผู้ป่วยทุกๆ 2-3 สัปดาห์ ผู้ป่วยรู้สึกเป็นห่วงเนื่องจากสามีขับรถเร็วมาก เกรงจะเกิดอุบัติเหตุเช่นเดียวกับที่บิดาของตนเคยประสบและเสียชีวิต แพทย์ผู้นั้นจึงได้ส่งผู้ป่วยมาพบจิตแพทย์จึงได้ให้การรักษาโดยจิตบำบัดควบคู่กับการให้ยา และใช้พฤติกรรมบำบัดเพื่อฝึกออกจากบ้าน ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นมากและในที่สุดสามารถทำงานเป็นปกติได้ใน 6 เดือนต่อมา
ที่มา : http://www.ramamental.com/panic.html

จิตแพทย์ชี้คนรวยอารมณ์แปรปรวน

คนรวย-นักการเมือง ควรเช็คอาการและหายาแก้โรคแปรปรวน หากชะล่าใจหวั่นเสี่ยงอันตราย

จิตแพทย์เตือนคนที่มีอารมณ์ร่าเริง ชอบทำบุญ เที่ยวกลางคืน ช้อปปิง ขยัน มีความคิดสร้างสรรค์ ล้วนเสี่ยงเป็นโรคอารมณ์แปรปรวน พบสถิติมีผู้ป่วยในไทยนับแสน ระบุมักเป็นคนรวยและนักการเมือง และไม่ได้รับการรักษาเนื่องจากไม่คิดว่าเป็นอาการของโรคแปรปรวน ควรหายาป้องกันหากปล่อยไว้อาจเกิดอันตรายได้

รศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ กรรมการสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช รพ.รามาธิบดี เปิดเผยว่า ขณะนี้พบคนไทยประมาณ 10-15% มีปัญหาสุขภาพจิต แต่มีเพียง 1% เท่านั้นที่มาพบแพทย์ และในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคอารมณ์แปรปรวนจำนวนหลายแสนคน ส่วนใหญ่อายุ 15-24 ปี และผู้ป่วยร้อยละ 25 เกิดอาการครั้งแรกก่อนอายุ 20 ปี

สาเหตุของโรคเป็นโรคอารมณ์แปรปรวนหรือทางการแพทย์เรียกว่า ไบโพลาร์ เกิดจากกรรมพันธุ์ และความผิดปกติของสมอง รวมถึงปัจจัยด้านความเครียด การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ และการอดนอนทำให้ผู้ป่วยมีอาการกำเริบ โดยอาการของโรคจะสามารถสังเกตได้จาก มีอาการร่าเริงหรือซึมเศร้าเกินปกติที่เคยเป็น จะแสดงอาการดังกล่าวประมาณ 4-6 เดือน จากนั้นจะกลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยหรือคนรอบข้าง ส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าป่วยเป็นโรคดังกล่าว

รศ.ดร.รณชัย กล่าวว่า ลักษณะอาการของผู้ป่วยจะค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป เกิดในบุคคลที่มีฐานะดี เนื่องจากอาการของโรคจะทำให้เป็นคนที่มีความคล่องแคล่ว ขยันหมั่นเพียรผิดปกติ ทำให้สามารถสร้างรายได้เป็นผู้ที่มีฐานะ นอกจากนี้ ลักษณะอาการคือ เช่น อารมณ์ดีผิดปกติ พูดคุยมากขึ้น สังคมเก่ง มีความคิดสร้างสรรค์ดี อยากทำโครงการต่างๆ มากมาย ชอบเที่ยวกลางคืน เพราะมีอารมณ์ร่าเริงเกินปกติ ไม่มีเบื่อ อาจจะลุกลามไปถึงการสำส่อนทางเพศ เพราะโรคดังกล่าวทำให้มีอารมณ์ทางเพศมากขึ้น ใช้เงินไปไม่มีเหตุผล ซึ่งบางรายที่ตนรับรักษา ถึงขั้นแจกเงินจากเดิมที่เป็นคนตระหนี่ การใช้ความรุนแรงทะเลาะเบาะแว้งในครอบครัว บางครั้งก็มาจากการที่มีอารมณ์แบบสุดขั้วเช่นนี้ บางรายที่มีอาการซึมเศร้าถึงขั้นฆ่าตัวตาย ซึ่งจากสถิติพบว่าคนไข้ 1 ใน 5 สามารถฆ่าตัวตายได้สำเร็จ

ตั้งข้อสังเกตได้ว่าผู้ที่ตั้งใจ ขยันทำงาน จนประสบความสำเร็จและมีฐานะที่ร่ำรวย มีโอกาสเสี่ยงต่อโรคอารมณ์แปรปรวนโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากอาจมีความขยันมากผิดปกติ แต่อย่างไรก็ตามไม่ใช่จะเป็นทุกคน และส่วนใหญ่คนไข้ที่ตนรับการรักษาอยู่นั้น ชอบทำบุญด้วยเงินเป็นจำนวนมาก เมื่อหายกลับต้องเสียดาย หรือบางรายเบิกเงินในช่วงระยะเวลา 3 วัน จำนวน 3 ล้านบาท เพื่อมาซื้อสินค้าต่างๆ เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่ทำให้สบายใจ เมื่อได้รับการรักษาจึงเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สำหรับคนไข้ที่ตนรักษาส่วนใหญ่มีประมาณ 3-4 คนต่อสัปดาห์ มีทุกอาชีพ รวมถึงนักการเมืองด้วย ซึ่งขณะนี้ตนรักษาอยู่ประมาณ 2 ราย แต่เจ้าตัวไม่ทราบว่ารักษาอยู่ มีคนจนที่ป่วยด้วยเช่นกันแต่น้อย รศ.นพ.รณชัย กล่าว

รศ.นพ.รณชัย กล่าวต่อว่า การรักษาโรคดังกล่าวสามารถรักษาด้วยการใช้ยาปรับอารมณ์ให้คงที่ (Mood Stabilizer) ซึ่งไม่หายขาด แต่ต้องทานยาเพื่อคุมอาการอย่างต่อเนื่อง โดยการรักษาแบ่งเป็น 2 ช่วง ในช่วงแรก ประมาณ 1-2 เดือน ทานยาเพื่อให้อาการกลับสู่ปกติ ช่วงที่สอง เป็นการรักษาอาจจะ 1-2 เดือนต่อครั้ง เพื่อคุมอาการไม่ให้รุนแรงเพิ่ม ทรงตัวไปเรื่อยๆ และไม่กลับมารุนแรงซ้ำ อย่างไรก็ตามรักษาไม่หายขาด

ทั้งนี้ผู้ป่วยในครอบครัว คนรอบตัวต้องเข้าใจและช่วยกันป้องกันผู้ป่วยในช่วงก่อนโรคกำเริบรุนแรงขึ้น ผู้ป่วยสามารถรับการรักษาได้กับจิตแพทย์ที่รพ.ทุกแห่ง ซึ่งการรักษาโรคนี้ต้องทานยา ซึ่งค่ารักษาไม่มาก เพียงวันละประมาณ 10-20 บาทต่อวัน และในโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค ครอบคลุมอยู่ด้วย


ข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ "กรุงเทพธุรกิจ"

โรคประสาทซึมเศร้า DYSTHYMIA และ CYCLOTHYMIA

โรคประสาทซึมเศร้า (dysthymia) โรคนี้เดิมเรียกชื่อว่า Depressive neurosis และเคย
ถูกจัดไว้ในกลุ่มโรคประสาท แต่ปัจจุบันจัดไว้เป็นกลุ่มโรคอารมณ์แปรปรวน อาการของโรคนี้คืออาการ
ซึมเศร้าเรื้อรัง โดยมีอาการซึมเศร้าติดต่อกันเป็นเดือนเป็นปี หรือตลอดชีวิต และมีช่วงเวลาที่อาการหาย
เป็นปกติระยะสั้นๆ สลับบ้าง อาการซึมเศร้า ไม่รุนแรงมากเหมือนในโรคซึมเศร้า และผู้ป่วยยังคงสามารถ
ประกอบกิจวัตรประจำวัน และทำงานได้ตามปกติ โรคนี้มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับความกระทบกระเทือนทางจิตใจในวัยเด็ก

Cyclothymia โรคนี้ยังไม่มีศัพท์บัญญัติในภาษาไทย อาการของโรคคือ ความไม่คงที่ของอารมณ์
ซึ่งมีทั้งครื้นเครงและซึมเศร้าในระดับความรุนแรงไม่มาก ถึงขั้นจะวินิจฉัยเป็นโรค Mania หรือโรค
ซึมเศร้า โรคนี้เคยถูกจัดไว้เป็นโรคบุคลิกภาพผิดปกติเพราะอาการของโรคเป็นเหมือนกับลักษณะประจำตัวของผู้ป่วย ที่คงอยู่อย่างถาวร

โรคอารมณ์แปรปรวน คนใกล้ตัวก็ช่วยได้

โรคอารมณ์แปรปรวน คนใกล้ตัว..ก็ช่วยได้

ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

โรคอารมณ์แปรปรวนใน ประเทศไทยมีหลายประเภท
ประเภที่แพร่หลาย มากที่สุดคือ ...
โรคอารมณ์ซึมเศร้า
พบ 5 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 3 ล้านคน
ประเภทต่อมา...โรคไบโพลาร์
ผู้ป่วยจะมีทั้งอาการซึมเศร้า และครื้นเครงสลับกันไปเป็นช่วงๆ
พบเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 6 แสนคน
ส่วนอาการทางอารมณ์ประเภทอื่นๆยังเกิดขึ้นน้อย

น.พ.อภิชัย มงคล รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สมัยนั้น)
ให้ข้อมูล แล้วอธิบายต่อไปว่า โรคอารมณ์แปรปรวนเกิดจาก
เนื้อสมอง มีความเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์
สมองคนเหล่านี้...ผิดปกติ มีความไม่สมดุลของสารเคมี

“ต้องย้ำว่า...โรคอารมณ์แปรปรวนเกิดจากกรรมพันธุ์
ประเภทที่ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ หมายความว่า ไม่ใช่จะต้องเป็นกันทุกคน
แต่มีโอกาสเกิดขึ้นกับญาติพี่น้องผู้ป่วย
โรคนี้ไม่ได้ติดต่อกันทางกรรมพันธุ์ขั้นรุนแรงขนาดนั้น”

ปัจจัยอื่นไม่ใช่สาเหตุหลัก แต่จะเป็นตัวกระตุ้น
เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ ผู้ที่เป็นโรคนี้ในช่วงแรกๆจะรู้สึกว่า
ตัวเองไม่สบาย แต่ไม่รู้ว่าเป็นอะไร คิดว่าการดื่มแอลกอฮอล์
จะเป็นการรักษาตัวเอง เป็นการคลายเครียด
“ตรงกันข้าม จะยิ่งไปกันใหญ่ ไม่ใช่วิธีการรักษาที่ถูกต้อง”

ปัจจัยต่อมา ความเครียดในชีวิต คนธรรมดาจะปรับตัว
และฟื้นตัวผ่านความเครียดในชีวิตไปได้
แต่คนที่เป็นโรคซ่อนเร้นมักจะก้าวผ่านไปไม่ได้
มีอาการค้างและคงอยู่ แต่จะมีปัญหาเป็นช่วงๆ
ตามช่วงวิกฤติของชีวิตปัจจัยเกี่ยวกับอาชีพอายุ
ก็มีส่วนเสริมให้เกิดโรคอารมณ์แปรปรวน
โดยเฉพาะอาชีพที่ต้องเปลี่ยนเวร
เปลี่ยนเวลาทำงานบ่อยๆ มีเวลานอนไม่แน่นอน

น.พ.อภิชัย บอกว่า คนที่เป็นโรคเหล่านี้
ควรมีอนามัยการนอนปกติ นอนแต่หัวค่ำ
ตื่นปกติ หรือ นอนและตื่นตามเวลาปกติ
ถ้าต้องเข้ากะ ทำงานเปลี่ยนเวลาบ่อยๆ
จะมีปัญหานอนไม่หลับ พอนอนไม่หลับนานๆ
โรคอารมณ์แปรปรวนก็จะกำเริบมากขึ้น

“อาชีพไหนที่มีเวลาทำงานไม่แน่นอน
ก็จะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการอารมณ์แปรปรวน
ได้ง่ายมากขึ้น” บางกรณี เวลานอนที่ไม่แน่นอน
ก็จะกระตุ้นให้โรคอารมณ์ แปรปรวนที่สงบแล้ว
กำเริบขึ้นได้บ่อยๆ
ปัจจัยเกี่ยวกับอายุ โรคนี้เป็นได้กับ
คนในทุกช่วงอายุ แต่เนื่องจากว่าสาเหตุกระตุ้น
มักจะรุมเร้ากับคนที่อยู่ในช่วงวัยทำงานมากกว่า
ฉะนั้นโรคที่ซ่อนอยู่ในตัวก็จะแสดงอาการเด่นชัด
ในช่วงวัยทำงาน อายุ 25-45 ปี
คนวัยนี้มีความเครียดมาก ต้องทำงาน ต้องต่อสู้มาก
และเป็นช่วงที่มีการเสี่ยงแอลกอฮอล์มาก
ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ที่อยู่อาศัย มีส่วนกระตุ้นโรคนี้หรือเปล่า

น.พ.อภิชัย บอกว่า ความไม่สะดวกสบายบางอย่าง
อากาศร้อน สถานที่คับแคบ อาจจะเป็นเหตุทำให้รู้สึก
หงุดหงิดบ้าง...เล็กน้อย จากประสบการณ์ปัจจัยเหล่านี้
ไม่น่าจะเป็นสาเหตุกระตุ้นหลัก สาเหตุหลักต้องมาจาก
ปัจจัยที่ใหญ่กว่านี้ ต้องเป็นเรื่องที่สร้างความตกอกตกใจ
สะเทือนขวัญ และเสียกำลังใจมากๆ

โรคอารมณ์แปรปรวน ถือเป็นโรคประจำตัว
เมื่อรักษาจนมีอาการหายดีแล้ว ก็ต้องปฏิบัติตัวตาม
ที่คุณหมอสั่งไว้เป็นอย่างดี ถ้าปฏิบัติตัวไม่ได้ไม่เข้มงวด
นานๆไปอาการก็จะกำเริบขึ้นมาอีก
ไม่ต่างกับโรคความดัน โรคเบาหวาน หายแล้วก็ต้องควบคุมของหวาน

“การปฏิบัติตัวไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยเครียดมากขึ้น
แต่จะช่วยให้เครียดน้อยลง ปัญหาที่เกิดบางทีเขาอาจไม่มีกำลังใจที่จะทำ”

การปฏิบัติตัวไม่ยุ่งยาก หลักๆคือ ห้ามแอลกอฮอล์และคาเฟอีน
หมายความว่า ห้ามดื่มเหล้า เบียร์ น้ำชา กาแฟ...
เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการนอนที่ไม่แน่นอน
ทำให้อาการกำเริบได้ บุหรี่ไม่ได้ห้าม
ปัญหาจากการสูบบุหรี่คือมะเร็ง ไม่เกี่ยวกับโรคจิตประสาท
สิ่งที่ต้องปฏิบัติต่อไป จะต้องเข้มงวดในการออกกำลังกาย
สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละครึ่งชั่วโมงต่อเนื่อง

“ปฏิบัติตัวได้อย่างนี้ก็ไม่เครียด
คนที่เครียด...เครียดเพราะไม่ทำ”

ดูเหมือนว่า ใครที่รู้ตัวว่ามีอาการโรคอารมณ์แปรปรวน
จะมีทางแก้ไขได้ แต่กับคนที่ไม่รู้ตัวจะทำอย่างไร

น.พ.อภิชัย บอกว่า ในช่วงแรกอาจไม่มีใครสังเกตเห็น
แต่ถ้ามีอารมณ์แปรปรวน เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายบ่อยๆซ้ำๆ...
ทุกๆสาม...สี่เดือน ญาติพี่น้องคนรอบตัวก็จะเริ่มสังเกต
“บ่อยๆเข้า คนไข้เอง...ก็จะรู้ตัว นึกได้ว่าไม่น่าทำอย่างนั้น...
ช่วงนั้นทำไมจ่ายเงินฟุ่มเฟือย...ขับรถเร็ว...เล่นการพนัน...
นอนน้อย... ขยันผิดปกติ” พอรู้ว่าเป็นขึ้นมาแล้ว
ญาติพี่น้องมักจะเป็นผู้นำไปสู่กระบวนการรักษา

วิธีสังเกต...คนที่เป็นโรคซึมเศร้า
ต้องดูพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลง จากคนที่พูดจาปกติ
ก็กลายเป็นคนเงียบขรึม พูดน้อย...เวลาคุยก็รู้สึกสิ้นหวัง
ท้อแท้ คิดว่าตัวเองจนแต้ม ไม่มีทางออก
บางครั้งอาจบ่นบ่อยๆว่านอนไม่หลับ หนักหน่อย ก็เปรยว่า...
อยากจะฆ่าตัวตาย สั่งเสียให้ญาติพี่น้องช่วยดูแลลูกหลาน

ใครที่มีความรู้สึกแบบนี้ติดต่อกันสักสองอาทิตย์
ถือว่าเป็นสัญญาณเตือนภัย
อาการโรคซึมเศร้าเพิ่มระดับความรุนแรงมากแล้ว
กลุ่มที่มีอาการครื้นเครง มีอาการตรงกันข้าม
จากคนสุภาพเรียบร้อย ก็เป็นคนแต่งตัวมาก
พูดมาก ขยันมาก นอนน้อย มีสัมพันธภาพทางเพศมากขึ้น
ทำอะไรเสี่ยงๆเพิ่มขึ้น ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้
คนรอบข้างสังเกตได้แน่นอน

คนรอบข้างเป็นตัวแปรสำคัญ ในการช่วยผู้ป่วย
ต้องให้คำปรึกษาโดยท่าทีเป็นผู้รับฟังที่ดี
ไม่ควรจะให้คำแนะนำมากนัก
พยายามยุให้พูดถึงสิ่งที่ขุ่นข้องหมองใจให้ได้ระบายมากที่สุด

“หลายคนคิดจะไปช่วย มักฟัง...สองสามประโยค
แล้วก็เริ่มอธิบายแนะนำ อย่างนี้ถือว่า...ไม่ได้ช่วยอะไร”
การแก้ปัญหาเมื่อรับฟังแล้ว ควรชวนกันไปออกกำลังกาย
คนที่ไม่ค่อยสบาย มักไม่มีแรงจูงใจ ในการออกกำลังกาย
หมอบอกให้ทำก็รู้ว่า ต้องทำ แต่ไม่ทำเพราะไม่มีแรงจูงใจ

โรคนี้...ทำให้เกิดนิสัยขี้เกียจออกกำลังกาย
จำเป็นต้องจัดสภาพแวดล้อม ให้อยากออกกำลังกาย
เช่น มีคนไปเป็นเพื่อน นัดแล้วก็ไปด้วยกัน
สอง...สามเดือนแรก คนใกล้ตัวต้องช่วยให้เขา
ฝ่ากำแพงความยากนี้ไปให้ได้ หากทำทั้งสองอย่างไม่ได้ผล
ก็ต้องให้ญาติผู้ใหญ่หว่านล้อม ชวนไปพบแพทย์

กรณีคนไข้เครียด ทะเลาะกับคนรอบข้าง
สามี...ภรรยาอาจไม่ เข้าใจว่าผู้ป่วยเครียด
จากอาการโรคอารมณ์แปรปรวน

น.พ.อภิชัย แนะนำว่า คนที่เครียดบ่อย...
ดุ...ก้าวร้าว...ทำร้ายคนอื่น
แม้กระทั่งดื่มเหล้าบ่อยๆ มองได้ 2 อย่าง
อย่างแรก...นิสัยไม่ดี อย่าง ต่อมา...มีปัญหาสุขภาพจิต

สิ่งสำคัญขึ้นอยู่กับทัศนคติ คนข้างตัวจะมองอย่างไร
ถ้ามองว่านิสัยไม่ดีก็แก้อะไรไม่ได้
ทะเลาะเบาะแว้งกันทั้งสองฝ่าย อยู่ด้วยกันก็ไม่มีความสุข...
หากมองอย่างสร้างสรรค์ เขาเป็นคนป่วย มีปัญหาสุขภาพจิต...
ต้องการความช่วยเหลือ ก็มีทางเยียวยา รักษาให้หายได้.

สุดท้ายขอขอบคุณสาระดีๆ เหล่านี้จาก
http://content.kapook.com
http://counsel.spu.ac.th ค่ะ

MANIC-DEPRESSIVE DISORDER

คำจำกัดความ
ลักษณะสำคัญของโรคนี้ คือ ผู้ป่วยมีความผิดปกติของอารมณ์เป็นอาการสำคัญ โดยอารมณ์ที่ผิดปกตินั้นอาจเป็นอารมณ์เศร้าหรืออารมณ์รื่นเริงสนุกสนานผิดปกติ ร่วมกับอาการอื่นของโรคซึมเศร้า หรือโรคแมเนียโดยไม่มีโรคทางกาย โรคของสมอง หรือพิษจากยาเป็นสาเหตุของอาการดังกล่าว

โรคอารมณ์แปรปรวน แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
1. Depressive Disorders มีอารมณ์เศร้าเป็นอาการหลักร่วมกับอาการอื่น ๆ
2. Bipolar Disorders มีอารมณ์สนุกสนานแบบ Mania เป็นอาการหลัก และมักมีหรือเคยมีอาการของโรคซึมเศร้า

อาการ
โรคซึมเศร้า มีอาการสำคัญ ๆ ดังนี้
- อารมณ์เศร้า ผู้ป่วยรู้สึกใจคอหดหู่ เศร้าหมอง ไม่มีชีวิตชีวา รู้สึกไม่แจ่มใส อารมณ์เศร้านี้จะเป็นติดต่อกันหลายวันถึงเป็นสัปดาห์
- อารมณ์หงุดหงิดโกรธง่าย ผู้ป่วยรู้สึกหงุดหงิดง่ายโดยไม่มีสาเหตุชัดเจนบ่อย ๆ
- ความรู้สึกเบื่อและหมดความสนใจ ผู้ป่วยรู้สึกเบื่อและหมดความสนใจในสิ่งต่าง ๆ ที่เคยทำให้รู้สึกดี เช่น ไม่อยากดู TV ไม่อยากไปดูภาพยนตร์ ไม่อยากคุยกับเพื่อนหรือญาติ ไม่อยากไปเที่ยว เป็นต้น
- อาการเบื่ออาหาร ผู้ป่วยรู้สึกเบื่อ ไม่รู้สึกอยากอาหาร กินอาหารน้อยลงจนน้ำหนักลด
- นอนไม่หลับ ระยะแรกอาจจะหลับยาก นอนหลับไม่สนิท ฝันร้าย หรือตื่นบ่อย เมื่อเป็นมากขึ้น อาจตื่นกลางดึก ตีหนึ่ง ตีสอง หรือตื่นเช้ามืด หลับต่อไม่ได้ เป็นทุกคืน
- อาการอ่อนเพลีย ผู้ป่วยรู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีแรง เหนื่อยง่าย โดยไม่มีสาเหตุทางร่างกายชัดเจน
- ความคิดเชื่องช้า การเคลื่อนไหวตลอดจนการพูดจาเชื่องช้าลง รู้สึกไม่กระตือรือร้น ต้องฝืนใจทำสิ่งต่าง ๆ เช่น การพูด การแต่งตัว การทำงาน เป็นต้น
- สมาธิเสีย ความจำไม่ดีและลืมง่ายเป็นอาการสำคัญ อ่านหนังสือแล้วจำไม่ได้ ไม่มีสมาธิในการทำงาน
- ความรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ผู้ป่วยรู้สึกตัวเองไม่มีค่า หรือหมดความสำคัญต่อครอบครัว เพื่อนร่วมงาน
- ความคิดอยากตาย เมื่อเศร้ามาก ๆ ผู้ป่วยจะคิดอยากตายและพยายามฆ่าตัวตาย ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาจฆ่าตัวตายสำเร็จ

โรค Bipolar Disorder ระยะ Mania Episode มีอาการดังนี้
- มีอารมณ์รื่นเริงสนุกสนานผิดปกติ หรือมีอารมณ์หงุดหงิดโกรธง่าย อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย
- อาการนอนไม่หลับ อาจหลับยาก ตื่นบ่อย หรือนอนไม่หลับเลย ผู้ป่วยจะลุกขึ้นมาทำงานต่าง ๆ วุ่นวาย โดยไม่รู้สึกอ่อนเพลีย
- มีอาการพูดมาก พูดเร็วและส่งเสียงดัง
- ไม่มีสมาธิ สิ่งกระตุ้นจากภายนอกจะเบนความคิดให้ออกนอกเรื่องได้ง่าย
- มีการเคลื่อนไหวและมีกิจกรรมมากผิดปกติ ผู้ป่วยจะพูดคุยกับคนทั่วไปแม้ไม่รู้จักกัน ชอบออกนอกบ้านไปพบเพื่อนหรือญาติพี่น้องบ่อยผิดปกติ
- ความคิดเปลี่ยนเรื่องเร็ว ผู้ป่วยมีความคิดหลาย ๆ เรื่อง เกิดขึ้นรวดเร็ว และแสดงออกโดยการพูดมากและเร็ว
- มีอารมณ์ทางเพศเพิ่มขึ้นผิดปกติ
- การตัดสินใจไม่ดี เช่น ใช้เงินเปลืองและซื้อของมากผิดปกติ ลงทุนในกิจการต่าง ๆ อย่างไร้เหตุผล
- รู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญมากผิดปกติ มีความสามารถพิเศษ ร่ำรวยมาก ทั้งที่ไม่เป็นความจริง
- ถ้าอาการมาก อาจมีอาการหูแว่ว ประสาทหลอนร่วมด้วย

การดำเนินของโรค

ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการประมาณ 6 - 9 เดือน เมื่ออาการของโรคสงบลง มักจะสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ แต่จะมีโอกาสเป็นซ้ำได้อีก จึงอาจต้องใช้ยาทางจิตเวชควบคุมอาการ เพื่อไม่ให้เป็นซ้ำ

การรักษา

ยาทางจิตเวช มีความสำคัญมากในการรักษาโรคกลุ่มนี้ ปัจจุบันมียารักษาอารมณ์เศร้าหลายชนิดที่ให้ผลการรักษาดี รวมทั้งยาควบคุมอารมณ์แปรปรวนในการรักษาผู้ป่วย Bipolar Disorder ผู้ป่วยส่วนใหญ่ต้องรักษาด้วยยาประมาณ 6 - 9 เดือน

จิตบำบัดและครอบครัวบำบัด ตามสภาพปัญหาส่วนตัวและครอบครัวของผู้ป่วย

เอกสารอ้างอิง
สมภพ เรืองตระกูล, ตำราจิตเวชศาสตร์ กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์เรือนแก้ว, 2542
มาโนช หล่อตระกูล, ปราโมทย์ สุคนิชย์, จิตเวชศาสตร์ รามาธิบดี กรุงเทพมหานคร : สวิชาญการพิมพ์,

โรคอารมณ์แปรปรวน เกิดจากยีน

โรคอารมณ์แปรปรวน (Bipolar Disorder; BPD) หรือ manic-depressive illness เป็นหนึ่งความผิดปกติทางจิตที่รุนแรง เกิดขึ้นกับคนหลายล้านคนทั่วโลก ทำให้คนมีอาการซึมเศร้าสลับกับร่าเริง เมื่อซึมเศร้าจะเกิดอาการดื้อดึง มีอาการเศร้าหรือสิ้นหวังเป็นเวลานาน ในขณะที่ร่าเริงจะมีอาการตื่นตัวจนเกินเหตุ มีความคิดผุดขึ้นมามากมาย ความต้องการนอนลดลง และบางครั้งอาจควบคุมพฤติกรรมของตนเองไม่ได้ มีอาการเพ้อ หรืองมงาย คาดว่าเกิดจากการแปรปรวนของปฏิกิริยาที่สลับซับซ้อนของยีนหลายตัว และปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม


ความก้าวหน้าด้านการวิจัยและการรักษาถูกจำกัดไว้ที่การขาดแคลนสัตว์ทดลองที่เหมาะสม การวิจัยนี้เป็นการพัฒนาเพื่อสร้างต้นแบบโดยใช้พันธุวิศวกรรมสร้างความบกพร่องกับยีน GluR6 และจากการวิจัยด้านความผิดปกติของอารมณ์ ชี้ให้เห็นว่าระบบ glutamatergic อาจเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดความผิดปกติทางอารมณ์

แม้ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่เข้าใจบทบาทของยีน GluR6 ต่อการควบคุมความแปรปรวนของอารมณ์ ยิ่งไปกว่านั้นยีนที่จับกับตัวรับ GluR6 ก็ถูกนำไปเชื่อมโยงกับการบำบัดกระบวนการคิดฆ่าตัวตายด้วยการศึกษาทางเภสัชพันธุศาสตร์ของยาแก้โรคซึมเศร้า ได้มีการให้ข้อสังเกตว่า ผู้ที่มีอาการของโรคอารมณ์แปรปรวนจะมีอาการซึมเศร้าได้ง่าย และอาจนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้


นักวิทยาศาสตร์ได้ออกแบบการทดลองเพื่อศึกษาหนูในหลายสายพันธุ์เปรียบเทียบหนูที่ไม่มียีน GluR6 กับหนูทั่วไปอย่างต่อเนื่อง พบว่าหนูที่ไม่มียีน GluR6 แสดงอาการหลายอย่างออกมาหลายอย่าง มันจะกระตือรือล้นมากขึ้นในการทดสอบหลายครั้ง และมีปฏิกิริยาตอบสนองอย่างมากต่อแอมเฟตามีน ซึ่งเป็นสารที่ใช้ในสัตว์ทดลองเพื่อหาภาวะไฮเปอร์แอคทีฟ (hyperactivity) หนูกลุ่มนี้ยังแสดงอาการกระวนกระวายเล็กน้อยและมีพฤติกรรมชอบความหวาดเสียวและมีพฤติกรรมซึมเศร้าน้อยลง นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มแสดงความก้าวร้าวมากขึ้นด้วย

โรคอารมณ์แปรปรวนมักรักษาด้วยยาควบคุมอารมณ์ หรือที่รู้จักกันดีคือ ลิเธียม นักวิจัยพบว่าการรักษาโรคอารมณ์แปรปรวนด้วยลิเธียมช่วยลดภาวะไฮเปอร์แอคทีฟ การแสดงอาการก้าวร้าว และภาวะชอบความหวาดเสียวในหนูที่ไม่มียีน GluR6 เมื่อทดสอบทางชีวเคมี ก็ชี้ให้เห็นว่า ยีน GluR6 มีบทบาทที่เป็นเอกลักษณ์ต่อการควบคุมอาการคลุ้มคลั่ง หนูต้นแบบที่ไม่มียีน GluR6 ทำให้นักวิจัยเข้าใจโรคอารมณ์แปรปรวนดีขึ้น อาจนำไปสู่วิธีรักษาแบบใหม่ได้ และหากรักษาในหนูได้สำเร็จก็อาจนำมาใช้กับคนได้ด้วย



ที่มา
http://www.sciencedaily.com/releases/2008/03/080312081256.htm

BIPOLAR DISORDER โรคอารมณ์แปรปรวน

โรคอารมณ์แปรปรวนชนิด Bipolar Disorder

โรคไบโพล่าร์เป็นโรคชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดความผิดปกติของอารมณ์ โรคนี้มีหลายชื่อเช่น โรคอารมณ์ แปรปรวน , manic-depressive disorder, bipolar affective disorder, bipolar disorder ในปัจจุบันชื่อเป็นทางการคือ โรคไบโพล่าร์ (bipolar disorder)

ลักษณะสำคัญของโรคนี้คืออาการผิดปกติของอารมณ์ที่เกิดขึ้นนั้นอาจเป็นแบบซึมเศร้า (depressive episode หรือ depression) หรือตรงข้ามกับซึมเศร้าคืออารมณ์ดีผิดปกติ (manic episode หรือ mania) ก็ได้

อาการซึมเศร้า (depressive episode)
อาการซึมเศร้าที่เกิดขึ้นในโรคไบโพล่าร์จะเหมือนกับอาการของโรคซึมเศร้า (major depressive disorder) ทุกประการนั่นคืออยู่ๆผู้ป่วยก็กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ร้องไห้ง่าย คิดแต่เรื่องร้ายๆ รู้สึกเศร้าๆ ไม่แจ่มใส เบื่อหน่ายไปหมดทุกเรื่อง ไม่รู้สึกดีใจเวลามีอะไรดีๆเกิดขึ้น ไม่อยากได้อะไร ไม่มีความสุข เก็บเนื้อเก็บตัวไม่อยากพบหน้าใคร บางคนจะหงุดหงิดโมโหง่าย เบื่อชีวิต อยากตาย บางคนถึงกับฆ่าตัวตาย มีอาการอยู่แทบทุกวันเป็นหลายๆสัปดาห์หรือเป็นเดือน ในช่วงซึมเศร้าผู้ป่วยมักรู้ว่าตนกำลังป่วยนอกจาก ในรายที่เป็นมากๆ

อาการตรงข้ามกับซึมเศร้า (manic episode)
เมื่อเกิดอาการตรงข้ามกับซึมเศร้าผู้ป่วยจะมีอารมณ์ดีผิดปกติ พูดมาก หัวเราะง่าย ชอบเข้าไปวุ่นวายกับคนอื่น จนบางครั้งเกิดเรื่องเกิดราว ใช้เงินเปลืองเพราะเห็นอะไรก็น่าซึ้อไปหมดและก็จะซื้อทีละเยอะๆด้วย รู้สึกว่า ตนเองเก่ง หล่อ สวย หรือเป็นคนสำคัญผิดปกติ ในช่วงที่ป่วยผู้ป่วยจะรู้สึกขยันขันแข็งอยากทำอะไรมากมายไปหมดและมีความต้องการที่จะนอนน้อยลง บางรายมีอารมณ์หงุดหงิดก้าวร้าวมาก ผู้ป่วยบางรายมีความต้องการทางเพศมาก บางรายมีอาการของโรคจิตด้วยคือมีความหลงเชื่อผิดเช่นคิดว่าผู้ป่วยเป็นคนสำคัญในอดีตกลับชาติมาเกิด หรือมีหูแว่วมาชมผู้ป่วยว่าหล่อจัง ผู้ป่วยมักไม่รู้ว่าตนกำลังป่วยและมักปฏิเสธการรักษา
ผู้ป่วยหลายๆรายติดอกติดใจในความสุขที่เกิดขึ้นในช่วงที่กำลังมีอาการตรงข้ามกับซึมเศร้าทำให้ไม่อยาก กินยาเพราะกินแล้ว "ไม่สนุก"

อาการที่สำคัญที่จะบอกว่าผู้ป่วยป่วยเป็นโรคไบโพล่าร์คือจะต้องมีอาการตรงข้ามกับซึมเศร้าอย่างน้อย 1 ครั้ง โดยที่ผู้ป่วยอาจจะมีอาการซึมเศร้าเป็นบางครั้งร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ รายที่เป็นทีไรก็ซึมเศร้าทุกทีไม่เคยมีอาการตรงข้ามกับซึมเศร้าเลยนั้นเราเรียกว่าเป็นโรคซึมเศร้าซึ่งการรักษา จะต่างกับโรคไบโพล่าร์ อย่างไรก็ดีผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าในช่วงหลังคลอดมักมีโอกาสสูงที่จะเกิดอาการ ตรงข้ามกับซึมเศร้าขึ้นในภายหลัง

โรคไบโพล่าร์นั้นมักเริ่มเป็นก่อนวัยกลางคน บางรายเริ่มเป็นตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 20 ปี แต่ก็มีบางรายที่มาเริ่ม เป็นหลังอายุ 40 ปีได้ โรคไบโพล่าร์เป็นโรคที่มีปัจจัยทางพันธุกรรมมาเกี่ยวข้องค่อนข้างมากโดยพบว่าเมื่อลองถามประวัติให้ดีๆ มักจะพบว่ามีคนอื่นบางคนในวงศ์ญาติป่วยเป็นโรคไบโพล่าร์และลูกหลานของผู้ที่ป่วยเป็นโรคไบโพล่าร์มี โอกาสที่จะป่วยเป็นโรคไบโพล่าร์ได้มากกว่าคนทั่วไป

ในปัจจุบันเชื่อว่าโรคไบโพล่าร์เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมองโดยมีสารสื่อนำประสาทที่ไม่สมดุลย์ คือมีสารซีโรโทนิน (serotonin) น้อยเกินไปและสารนอร์เอปิเนฟริน (epinephrine) มากเกินไป ดังนั้นเราจึงสามารถรักษาโรคนี้ได้ด้วยยา ยาที่ใช้รักษาโรคไบโพล่าร์ได้แก่ยาในกลุ่มยาควบคุมอารมณ์ (mood stabilizers), ยาแก้โรคจิต (antipsychotics), และยาแก้โรคซึมเศร้า (antidepressants)

ข้อมูลความรู้จากเรื่องโรคอารมณ์แปรปรวน
ผศ.นพ.สเปญ อุ่นอนงค์