วันไบโพลาร์โลก(World Bipolar Day)

วันที่ 30 มี.ค.ของทุกปี สมาพันธ์โรคไบโพลาร์สากล (The International Society for Bipolar Disorders) กำหนดให้เป็นวันไบโพลาร์โลก (World Bipolar Day) เพื่อรณรงค์ให้ทั่วโลกเร่งป้องกันและดูแลผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ (Bipolar Disorder) ซึ่งเป็นโรคที่มีความผิดปกติทางอารมณ์ มีอารมณ์สองขั้วสลับกัน ระหว่างรื่นเริงผิดปกติและซึมเศร้า คาดว่าขณะนี้ทั่วโลกมีผู้ป่วยประมาณ 27 ล้านคน หรือร้อยละ 1-2 ของประชากรโลก ในจำนวนนี้ ร้อยละ 20 ฆ่าตัวตายสำเร็จ สำหรับไทยโดยการศึกษาในปี 2555 ประเมินจำนวนผู้มีปัญหาสุขภาพจิตที่ต้องเข้าถึงบริการ 10 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นโรคไบโพลาร์ประมาณ 1 ล้านคน ซึ่งมากเป็นอันดับ 2 รองจากโรคจิตเภท การเข้าถึงบริการของผู้มีปัญหาสุขภาพจิตยังต่ำกว่าโรคทางกายมาก โดยเข้าถึงบริการเพียงร้อยละ 61 กระทรวงสาธารณสุขจึงต้องพัฒนาระบบบริการให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยเน้นเพิ่มเข้าถึงบริการ เข้าถึงยา และพัฒนาการคัดกรอง 

 โรงพยาบาลศรีธัญญา จัดกิจกรรม “วันไบโพลาร์โลก” โดยพญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า โรคนี้รักษาหายได้ แต่ต้องได้รับกำลังใจและรักษาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากหากไม่รับการรักษาติดตามดูแลจะกลับเป็นซ้ำได้ถึงร้อยละ 80-90 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่มีญาติเป็นโรคซึมเศร้า มีวงจรการกิน การนอนผิดปกติ ตลอดจนคนใช้สารเสพติด ทั้งนี้ สามารถขอรับบริการปรึกษาได้ที่สายด่วน 1323 ตลอด 24 ชั่วโมงฟรี

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้อำนวยการศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า ประเทศไทยอาจไม่คุ้นเคยกับโรคนี้มากนัก แต่ในต่างประเทศรู้จักกันดี อย่างกรณีนักบินผู้ช่วยของสายการบินเยอรมันวิงส์ที่บังคับเครื่องบินให้พุ่งตกเขา(เกิดขึ้นเมื่อมีนาคม 2558)นั้น ก็พบว่าป่วยเป็นโรคไบโพลาร์เช่นกัน ถือเป็นโรคที่มีความรุนแรง ปัญหาคือโรคนี้สังเกตยาก เพราะผู้ป่วยจะไม่แสดงอาการ แต่จะมีลักษณะเหมือนคนนิสัยไม่ดีทั่วไป แต่สังเกตได้ตรงที่จะทำอะไรที่แปลกไปจากเดิม เช่น มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป อย่างร่าเริงผิดปกติ เศร้าผิดปกติ เป็นต้อง หากพบเจอญาติหรือคนใกล้ชิดมีลักษณะอาการเช่นนี้ ให้รีบพาพบจิตแพทย์เพื่อบำบัดรักษาด่วน