โรคอารมณ์แปรปรวน คนใกล้ตัวก็ช่วยได้

โรคอารมณ์แปรปรวน คนใกล้ตัว..ก็ช่วยได้

ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

โรคอารมณ์แปรปรวนใน ประเทศไทยมีหลายประเภท
ประเภที่แพร่หลาย มากที่สุดคือ ...
โรคอารมณ์ซึมเศร้า
พบ 5 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 3 ล้านคน
ประเภทต่อมา...โรคไบโพลาร์
ผู้ป่วยจะมีทั้งอาการซึมเศร้า และครื้นเครงสลับกันไปเป็นช่วงๆ
พบเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 6 แสนคน
ส่วนอาการทางอารมณ์ประเภทอื่นๆยังเกิดขึ้นน้อย

น.พ.อภิชัย มงคล รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สมัยนั้น)
ให้ข้อมูล แล้วอธิบายต่อไปว่า โรคอารมณ์แปรปรวนเกิดจาก
เนื้อสมอง มีความเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์
สมองคนเหล่านี้...ผิดปกติ มีความไม่สมดุลของสารเคมี

“ต้องย้ำว่า...โรคอารมณ์แปรปรวนเกิดจากกรรมพันธุ์
ประเภทที่ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ หมายความว่า ไม่ใช่จะต้องเป็นกันทุกคน
แต่มีโอกาสเกิดขึ้นกับญาติพี่น้องผู้ป่วย
โรคนี้ไม่ได้ติดต่อกันทางกรรมพันธุ์ขั้นรุนแรงขนาดนั้น”

ปัจจัยอื่นไม่ใช่สาเหตุหลัก แต่จะเป็นตัวกระตุ้น
เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ ผู้ที่เป็นโรคนี้ในช่วงแรกๆจะรู้สึกว่า
ตัวเองไม่สบาย แต่ไม่รู้ว่าเป็นอะไร คิดว่าการดื่มแอลกอฮอล์
จะเป็นการรักษาตัวเอง เป็นการคลายเครียด
“ตรงกันข้าม จะยิ่งไปกันใหญ่ ไม่ใช่วิธีการรักษาที่ถูกต้อง”

ปัจจัยต่อมา ความเครียดในชีวิต คนธรรมดาจะปรับตัว
และฟื้นตัวผ่านความเครียดในชีวิตไปได้
แต่คนที่เป็นโรคซ่อนเร้นมักจะก้าวผ่านไปไม่ได้
มีอาการค้างและคงอยู่ แต่จะมีปัญหาเป็นช่วงๆ
ตามช่วงวิกฤติของชีวิตปัจจัยเกี่ยวกับอาชีพอายุ
ก็มีส่วนเสริมให้เกิดโรคอารมณ์แปรปรวน
โดยเฉพาะอาชีพที่ต้องเปลี่ยนเวร
เปลี่ยนเวลาทำงานบ่อยๆ มีเวลานอนไม่แน่นอน

น.พ.อภิชัย บอกว่า คนที่เป็นโรคเหล่านี้
ควรมีอนามัยการนอนปกติ นอนแต่หัวค่ำ
ตื่นปกติ หรือ นอนและตื่นตามเวลาปกติ
ถ้าต้องเข้ากะ ทำงานเปลี่ยนเวลาบ่อยๆ
จะมีปัญหานอนไม่หลับ พอนอนไม่หลับนานๆ
โรคอารมณ์แปรปรวนก็จะกำเริบมากขึ้น

“อาชีพไหนที่มีเวลาทำงานไม่แน่นอน
ก็จะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการอารมณ์แปรปรวน
ได้ง่ายมากขึ้น” บางกรณี เวลานอนที่ไม่แน่นอน
ก็จะกระตุ้นให้โรคอารมณ์ แปรปรวนที่สงบแล้ว
กำเริบขึ้นได้บ่อยๆ
ปัจจัยเกี่ยวกับอายุ โรคนี้เป็นได้กับ
คนในทุกช่วงอายุ แต่เนื่องจากว่าสาเหตุกระตุ้น
มักจะรุมเร้ากับคนที่อยู่ในช่วงวัยทำงานมากกว่า
ฉะนั้นโรคที่ซ่อนอยู่ในตัวก็จะแสดงอาการเด่นชัด
ในช่วงวัยทำงาน อายุ 25-45 ปี
คนวัยนี้มีความเครียดมาก ต้องทำงาน ต้องต่อสู้มาก
และเป็นช่วงที่มีการเสี่ยงแอลกอฮอล์มาก
ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ที่อยู่อาศัย มีส่วนกระตุ้นโรคนี้หรือเปล่า

น.พ.อภิชัย บอกว่า ความไม่สะดวกสบายบางอย่าง
อากาศร้อน สถานที่คับแคบ อาจจะเป็นเหตุทำให้รู้สึก
หงุดหงิดบ้าง...เล็กน้อย จากประสบการณ์ปัจจัยเหล่านี้
ไม่น่าจะเป็นสาเหตุกระตุ้นหลัก สาเหตุหลักต้องมาจาก
ปัจจัยที่ใหญ่กว่านี้ ต้องเป็นเรื่องที่สร้างความตกอกตกใจ
สะเทือนขวัญ และเสียกำลังใจมากๆ

โรคอารมณ์แปรปรวน ถือเป็นโรคประจำตัว
เมื่อรักษาจนมีอาการหายดีแล้ว ก็ต้องปฏิบัติตัวตาม
ที่คุณหมอสั่งไว้เป็นอย่างดี ถ้าปฏิบัติตัวไม่ได้ไม่เข้มงวด
นานๆไปอาการก็จะกำเริบขึ้นมาอีก
ไม่ต่างกับโรคความดัน โรคเบาหวาน หายแล้วก็ต้องควบคุมของหวาน

“การปฏิบัติตัวไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยเครียดมากขึ้น
แต่จะช่วยให้เครียดน้อยลง ปัญหาที่เกิดบางทีเขาอาจไม่มีกำลังใจที่จะทำ”

การปฏิบัติตัวไม่ยุ่งยาก หลักๆคือ ห้ามแอลกอฮอล์และคาเฟอีน
หมายความว่า ห้ามดื่มเหล้า เบียร์ น้ำชา กาแฟ...
เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการนอนที่ไม่แน่นอน
ทำให้อาการกำเริบได้ บุหรี่ไม่ได้ห้าม
ปัญหาจากการสูบบุหรี่คือมะเร็ง ไม่เกี่ยวกับโรคจิตประสาท
สิ่งที่ต้องปฏิบัติต่อไป จะต้องเข้มงวดในการออกกำลังกาย
สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละครึ่งชั่วโมงต่อเนื่อง

“ปฏิบัติตัวได้อย่างนี้ก็ไม่เครียด
คนที่เครียด...เครียดเพราะไม่ทำ”

ดูเหมือนว่า ใครที่รู้ตัวว่ามีอาการโรคอารมณ์แปรปรวน
จะมีทางแก้ไขได้ แต่กับคนที่ไม่รู้ตัวจะทำอย่างไร

น.พ.อภิชัย บอกว่า ในช่วงแรกอาจไม่มีใครสังเกตเห็น
แต่ถ้ามีอารมณ์แปรปรวน เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายบ่อยๆซ้ำๆ...
ทุกๆสาม...สี่เดือน ญาติพี่น้องคนรอบตัวก็จะเริ่มสังเกต
“บ่อยๆเข้า คนไข้เอง...ก็จะรู้ตัว นึกได้ว่าไม่น่าทำอย่างนั้น...
ช่วงนั้นทำไมจ่ายเงินฟุ่มเฟือย...ขับรถเร็ว...เล่นการพนัน...
นอนน้อย... ขยันผิดปกติ” พอรู้ว่าเป็นขึ้นมาแล้ว
ญาติพี่น้องมักจะเป็นผู้นำไปสู่กระบวนการรักษา

วิธีสังเกต...คนที่เป็นโรคซึมเศร้า
ต้องดูพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลง จากคนที่พูดจาปกติ
ก็กลายเป็นคนเงียบขรึม พูดน้อย...เวลาคุยก็รู้สึกสิ้นหวัง
ท้อแท้ คิดว่าตัวเองจนแต้ม ไม่มีทางออก
บางครั้งอาจบ่นบ่อยๆว่านอนไม่หลับ หนักหน่อย ก็เปรยว่า...
อยากจะฆ่าตัวตาย สั่งเสียให้ญาติพี่น้องช่วยดูแลลูกหลาน

ใครที่มีความรู้สึกแบบนี้ติดต่อกันสักสองอาทิตย์
ถือว่าเป็นสัญญาณเตือนภัย
อาการโรคซึมเศร้าเพิ่มระดับความรุนแรงมากแล้ว
กลุ่มที่มีอาการครื้นเครง มีอาการตรงกันข้าม
จากคนสุภาพเรียบร้อย ก็เป็นคนแต่งตัวมาก
พูดมาก ขยันมาก นอนน้อย มีสัมพันธภาพทางเพศมากขึ้น
ทำอะไรเสี่ยงๆเพิ่มขึ้น ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้
คนรอบข้างสังเกตได้แน่นอน

คนรอบข้างเป็นตัวแปรสำคัญ ในการช่วยผู้ป่วย
ต้องให้คำปรึกษาโดยท่าทีเป็นผู้รับฟังที่ดี
ไม่ควรจะให้คำแนะนำมากนัก
พยายามยุให้พูดถึงสิ่งที่ขุ่นข้องหมองใจให้ได้ระบายมากที่สุด

“หลายคนคิดจะไปช่วย มักฟัง...สองสามประโยค
แล้วก็เริ่มอธิบายแนะนำ อย่างนี้ถือว่า...ไม่ได้ช่วยอะไร”
การแก้ปัญหาเมื่อรับฟังแล้ว ควรชวนกันไปออกกำลังกาย
คนที่ไม่ค่อยสบาย มักไม่มีแรงจูงใจ ในการออกกำลังกาย
หมอบอกให้ทำก็รู้ว่า ต้องทำ แต่ไม่ทำเพราะไม่มีแรงจูงใจ

โรคนี้...ทำให้เกิดนิสัยขี้เกียจออกกำลังกาย
จำเป็นต้องจัดสภาพแวดล้อม ให้อยากออกกำลังกาย
เช่น มีคนไปเป็นเพื่อน นัดแล้วก็ไปด้วยกัน
สอง...สามเดือนแรก คนใกล้ตัวต้องช่วยให้เขา
ฝ่ากำแพงความยากนี้ไปให้ได้ หากทำทั้งสองอย่างไม่ได้ผล
ก็ต้องให้ญาติผู้ใหญ่หว่านล้อม ชวนไปพบแพทย์

กรณีคนไข้เครียด ทะเลาะกับคนรอบข้าง
สามี...ภรรยาอาจไม่ เข้าใจว่าผู้ป่วยเครียด
จากอาการโรคอารมณ์แปรปรวน

น.พ.อภิชัย แนะนำว่า คนที่เครียดบ่อย...
ดุ...ก้าวร้าว...ทำร้ายคนอื่น
แม้กระทั่งดื่มเหล้าบ่อยๆ มองได้ 2 อย่าง
อย่างแรก...นิสัยไม่ดี อย่าง ต่อมา...มีปัญหาสุขภาพจิต

สิ่งสำคัญขึ้นอยู่กับทัศนคติ คนข้างตัวจะมองอย่างไร
ถ้ามองว่านิสัยไม่ดีก็แก้อะไรไม่ได้
ทะเลาะเบาะแว้งกันทั้งสองฝ่าย อยู่ด้วยกันก็ไม่มีความสุข...
หากมองอย่างสร้างสรรค์ เขาเป็นคนป่วย มีปัญหาสุขภาพจิต...
ต้องการความช่วยเหลือ ก็มีทางเยียวยา รักษาให้หายได้.

สุดท้ายขอขอบคุณสาระดีๆ เหล่านี้จาก
http://content.kapook.com
http://counsel.spu.ac.th ค่ะ