โรคอารมณ์สองขั้ว

ข้อมูลจากมูลนิธิหมอชาวบ้าน
การเปลี่ยนแปลงของโรคอารมณ์สองขั้ว ผู้ที่เป็นจะอารมณ์เปลี่ยนแปลงไปจากปกติเป็นช่วงๆ โดยเป็นแบบซึมเศร้าตามด้วยช่วงเวลาที่เป็นปกติดี จากนั้นอีกเป็นปีอาจเกิดอาการแบบเมเนียขึ้นมา บางคนอาจเริ่มต้นด้วยอาการแบบเมเนียก่อนก็ได้ และไม่จำเป็นต้องตามด้วยอาการด้านตรงข้ามเสมอไป เช่น อาจมีอาการแบบซึมเศร้า - ปกติ - ซึมเศร้า - เมเนีย
เขามีอาการอย่างไร
ผู้ที่เป็นจะมีอาการแสดงออกมาทั้งในด้านอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรม โดยในแต่ละระยะจะมีอาการนานหลายสัปดาห์ จนอาจถึงหลายเดือนหากไม่ได้รับการรักษา
ในระยะซึมเศร้า ผู้ที่เป็นจะรู้สึกเบื่อหน่ายไปหมด จากเดิมชอบอ่านหนังสือพิมพ์ ติดละคร หรือดูข่าว ก็ไม่สนใจติดตามอะไรๆ ก็ไม่เพลินใจไปหมด คุณยายบางคน หลานๆ มาเยี่ยมจากต่างจังหวัดแทนที่จะดีใจกลับรู้สึกเฉยๆ บางคนจะมีอาการซึมเศร้า อารมณ์อ่อนไหวง่าย ร้องไห้เป็นว่าเล่น บางคนจะหงุดหงิด ขวางหูขวางตาไป หมด ทนเสียงดังไม่ได้ ไม่อยากให้ใครมาวุ่นวาย อาการเบื่อเป็นมาก แม้แต่อาหารการกินก็ไม่สนใจ บางคนน้ำหนักลดฮวบฮาบสัปดาห์ละ ๒-๓ กิโลกรัมก็มี เขาจะนั่งอยู่เฉยๆ ได้เป็นชั่วโมงๆ ความจำก็แย่ลง มักหลงๆ ลืมๆ เพราะใจลอย ตัดสินใจอะไรก็ไม่ได้ เพราะไม่มั่นใจไปเสียหมด เขาจะมองสิ่งต่างๆ ในแง่ลบไปหมด คิดว่าตัวเองเป็นภาระของคนอื่น ไม่มีใครสนใจตนเอง ถ้าตายไปคงจะดีจะพ้นทุกข์เสียที หากญาติหรือคนใกล้ชิดเห็นเขามีท่าทีบ่นไม่รู้จะอยู่ไปทำไม หรือพูดทำนองฝากฝัง สั่งเสีย อย่ามองข้ามหรือต่อว่าเขาว่าอย่าคิดมาก แต่ให้สนใจพยายามพูดคุยกับเขา รับฟังสิ่งที่เขาเล่าให้มากๆ ถ้ารู้สึกไม่เข้าใจหรือมองแล้วไม่ค่อยดี ขอแนะนำให้รีบพาไปพบแพทย์เพื่อรักษาโดยเร็ว

ในทางตรงกันข้าม ในระยะเมเนีย เขาจะมีอาการเปลี่ยนไปอีกขั้วหนึ่งเลย เขาจะมั่นใจตัวเองมาก รู้สึกว่าตัวเองเก่ง ความคิดไอเดียต่างๆ แล่นกระฉูด เวลาคิดอะไรจะมองข้ามไป ๒-๓ ช็อตจนคนตามไม่ทัน การพูดจาจะลื่นไหลพูดเก่ง คล่องแคล่ว มนุษยสัมพันธ์ดี เรียกว่าเจอใครก็เข้าไปทักไปคุย เห็นใครก็อยากจะช่วย ช่วงนี้เขาจะหน้าใหญ่ใจโต ใช้จ่ายเกินตัว ถ้าเป็นคุณตาคุณยายก็บริจาคเงินเข้าวัดจนลูกหลานระอา ถ้าเป็นเจ้าของบริษัทก็จัดงานเลี้ยง แจกโบนัส มีโครงการต่างๆมากมาย พลังของเขาจะมีเหลือเฟือ นอนดึกเพราะมีเรื่องให้ทำมากมาย ตี ๔ ก็ตื่นแล้ว ตื่นมาก็ทำโน่นทำนี่เลย ด้วยความที่เขาสนใจสิ่งต่างๆ มากมาย จึงทำให้เขาวอกแวกมาก ไม่สามารถอดทนทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้นานๆ เขาทำงานเยอะ แต่ก็ไม่เสร็จเป็นชิ้นเป็นอันสักอย่าง ความยับยั้งชั่งใจตนเองมีน้อยมากเรียกว่าพอนึกอยากจะทำอะไรต้องทำทันที หากมีใครมาห้ามจะโกรธรุนแรง อาการในระยะนี้หากเป็นมากๆ จะพูดไม่หยุด เสียงดัง เอาแต่ใจตัวเอง โกรธรุนแรงถึงขั้นอาละวาด ถ้ามีคนขัดขวาง

อาการระยะซึมเศร้าจะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป มักเป็นหลังมีเรื่องกระทบกระเทือนใจ เช่น สอบตก เปลี่ยนงาน มีปัญหาครอบครัว แต่จะต่างจากปกติคือเขาจะเศร้าไม่เลิก งานการทำไม่ได้ ขาดงานบ่อยๆ มักเป็นนานเป็นเดือนๆ อาการระยะเมเนียมักเกิดขึ้นเร็ว และเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ จนภายใน ๒-๓ สัปดาห์อาการจะเต็มที่อารมณ์รุนแรง ก้าวร้าวจนญาติรับไม่ไหวต้องพามาโรงพยาบาล อาการในครั้งแรกๆจะเกิดหลังมีเรื่องกดดัน แต่หากเป็นหลายๆ ครั้งก็มักเป็นขึ้นมาเองโดยที่ไม่มีปัญหาอะไรมากระตุ้นเลย ข้อสังเกตประการหนึ่งคือคนที่อยู่ในระยะเมเนียจะไม่คิดว่าตัวเองผิดปกติ มองว่าช่วงนี้ตัวเองอารมณ์ดีหรือใครๆ ก็ขยันกันได้ ในขณะที่หากเป็นระยะซึมเศร้า คนที่เป็นจะพอบอกได้ว่าตนเองเปลี่ยนไปจากเดิม ในระยะซึมเศร้าหากคนใกล้ชิดสนใจมักสังเกตไม่ยากเพราะเขาจะซึมลงดูอมทุกข์ แต่อาการแบบเมเนียจะบอกยากโดยเฉพาะในระยะแรกๆ ที่อาการยังไม่มากเพราะดูเหมือนเขาจะเป็นแค่คนขยันอารมณ์ดีเท่านั้นเอง แต่ถ้าสังเกตจริงๆ ก็จะเห็นว่าลักษณะแบบนี้ไม่ใช่ตัวตนของเขา เขาจะดูเว่อร์กว่าปกติไปมาก
การวินิจฉัย
ไม่มีการตรวจพิเศษเพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคนี้ ข้อมูลหลักในการวินิจฉัยคือ การซักประวัติอาการ ความเป็นไปของโรค ความเจ็บป่วยทางจิตในญาติ การใช้ยาและสารต่างๆ หรือโรคประจำตัว เพราะยาบางขนานหรือโรคทางร่างกายบางโรคอาจมีอาการทางจิตเหมือนกับโรคอารมณ์สองขั้วได้ แพทย์จะนำข้อมูลได้จากผู้ที่เป็นและญาติ ร่วมไปกับการตรวจร่างกายและตรวจสภาพจิตมาประมวลกันเพื่อการวินิจฉัย
โรคนี้เป็นกันบ่อยไหม
พบว่าคนเรามีโอกาสป่วยเป็นโรคนี้ประมาณร้อยละ ๑ หญิงและชายพบได้พอๆ กัน มักพบมีอาการครั้งแรกระหว่างอายุ ๑๕-๒๔ ปี
แล้วโรคอารมณ์สองขั้วเกิดจากอะไรล่ะ
โรคอารมณ์สองขั้วไม่ได้เป็นจากเขามีจิตใจอ่อนแอ หรือคิดมากอย่างที่คนอื่นมักมองกัน แต่เป็นจากความผิดปกติทางสมอง พบว่าผู้ที่เป็นโรคนี้มีการทำงานของสมองและสารเคมีในสมองซึ่งทำหน้าที่สื่อสารระหว่างเซลล์ประสาทแปรปรวนไป ผู้ที่เป็นโรคอารมณ์สองขั้วมักมีประวัติญาติป่วยเป็นโรคทางอารมณ์ ลูกของเขามีโอกาสเกิดโรคนี้มากกว่าคนทั่วไปประมาณ ๘ เท่า สิ่งที่ถ่ายทอดเป็นความเสี่ยงต่อการเกิดโรค เมื่อผู้ที่มีแนวโน้มจะเป็นเหล่านี้พบเหตุกดดันทางจิตใจ เช่น ตกงาน ญาติเสียชีวิต หรือมีการเสพยาใช้สารต่างๆ ก็จะไปกระตุ้นให้แนวโน้มการเกิดโรคที่แฝงเร้นอยู่นี้สำแดงอาการออกมา
แนวทางการรักษา 
การรักษาด้วยยาเป็นการรักษาหลักในโรคนี้ แพทย์จ่ายยาร่วมกับการช่วยเหลือให้คำปรึกษาทางจิตใจ เพื่อช่วยผู้ที่เป็นในการปรับตัวกับสังคม และจัดการกับปัญหาต่างๆ ในชีวิต
๑. การรักษาในระยะอาการกำเริบ
ระยะเมเนีย ยาที่นิยมใช้ ได้แก่
ลิเทียม (lithium) เป็นยาช่วยควบคุมอาการทางอารมณ์ การออกฤทธิ์ในการรักษาของลิเทียมต้องใช้เวลา ๑-๒ สัปดาห์ขึ้นไป ในระยะแรกจึงอาจต้องให้ยาขนานอื่นร่วมไปด้วย
วาลโพรเอต (valproate) และคาร์บามาซีพีน (carbamazepine) เป็นยากันชักแต่ในทางจิตเวชใช้เป็นยาทำให้อารมณ์คงที่เหมือนลิเทียม
ยารักษาโรคจิต ใช้เพื่อลดอาการพลุ่งพล่านหรือ อาการโรคจิตเช่นประสาทหลอน หลงผิดที่อาจเกิดในช่วงที่อาการมาก
ระยะซึมเศร้า
ยาแก้ซึมเศร้า ใช้เพื่อลดอาการซึมเศร้า ท้อแท้ ใช้เวลา ๑-๒ สัปดาห์จึงออกฤทธิ์ในการรักษา
แล้วจะต้องกินยาไปนานเท่าไร
โดยทั่วไปหากเป็นการป่วยครั้งแรกหลังจากที่แพทย์รักษาจนผู้ป่วยอาการกลับสู่ปกติแล้ว จะให้ยากินต่อไปอีกจนครบ ๖ เดือน แล้วค่อยๆ ลดยาลงจนหยุดไป โดยทั่วไปก็ใช้เวลาเกือบปี ที่พบบ่อยคือพออาการดีขึ้นหลังกินยาไปได้ ๑-๒ เดือนผู้ป่วยก็ไม่มาพบแพทย์ ไม่ยอมกินยาต่อ เพราะคิดว่าหายแล้ว หรือกลัวติดยา กลัวว่ายาจะสะสม ในความเป็นจริงแล้วยาทางจิตเวชที่จะมีติดก็คือยานอนหลับเท่านั้น (ซึ่งจิตแพทย์เองก็ไม่นิยมใช้) ยาอื่นไม่พบติดยาแน่ๆ ที่สำคัญคือหากหยุดยาเร็วจะมีโอกาสกลับมามีอาการกำเริบอีกสูงมากเพราะตัวโรคยังไม่ทุเลาลงเต็มที่ เหมือนกับเป็นโรคปอดบวม แต่กินยาแก้อักเสบแค่ ๒ วัน พอหยุดยาปอดก็แย่ลงอีกแน่ๆ

๒. การป้องกัน
ผู้ที่มีอาการกำเริบ ๒ ครั้งขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นแบบเมเนียหรือซึมเศร้า ควรกินยาป้องกันระยะยาว โดยทั่วไปแพทย์จะให้กินนานอย่างน้อย ๒ ปีขึ้นไป
อยู่อย่างเข้าใจโรคอารมณ์สองขั้ว
การกินยาอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้สามารถควบคุมอาการได้ดี รวมทั้งสามารถป้องกันการกำเริบในครั้งต่อไป และควรพบแพทย์ตามนัดเพื่อประเมินผลการรักษาตลอดจนผลข้างเคียงจากยา แพทย์อาจปรับยาเป็นช่วงๆ ตามแต่อาการของโรค ควรบอกแพทย์อย่างไม่ปิดบังถึงอารมณ์และพฤติกรรมต่างๆ โดยเฉพาะหากไม่แน่ใจว่าเป็นช่วงที่อารมณ์เปลี่ยนแปลงหรือไม่ การปฏิบัติตัวที่สำคัญในโรคนี้ได้แก่การรักษาความสม่ำเสมอในการดำเนินกิจวัตรพื้นฐานประจำวัน ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือเรื่องการนอน พบว่าการนอนน้อยติดต่อกันหลายวันทำให้อาการแกว่งไกวได้ จึงควรเข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลา หลีกเลี่ยงการนอนดึก หรือดื่มแอลกอฮอล์

ในช่วงที่เริ่มมีอาการเมเนียให้เลี่ยงการตัดสินใจ ที่สำคัญๆ หาหลักควบคุมการใช้เงิน (เช่น ฝากเงินไว้กับภรรยา) หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่กระตุ้นอารมณ์มากๆ  ให้คนใกล้ชิดและญาติคอยเตือนเมื่อเห็นว่าตนเองมีพฤติกรรมที่อาจไม่เหมาะสม ในช่วงซึมเศร้าหลีกเลี่ยงการตัดสินใจที่สำคัญๆ เช่น ลาออกจากงาน การออกกำลังกาย โดยในผู้ที่มีอาการซึมเศร้าไม่มาก จะรู้สึกว่าจิตใจคลายความเศร้า และแจ่มใส ขึ้นได้ หากอาการมากอยู่ อย่ากดดันตัวเองให้ทำสิ่งต่างๆ ได้เหมือนเดิม ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่ยังต้องการการพักผ่อนทั้งทางร่างกายและจิตใจ การกระตุ้นตนเองมากไป กลับยิ่งจะทำให้ตัวเองรู้สึกแย่ที่ทำไม่ได้อย่างที่หวัง การเข้าใจจากคนใกล้ชิดและญาติมีส่วนสำคัญที่จะทำให้ผู้ที่เป็นมีกำลังใจในการรักษาให้ตนเองกลับสู่ปกติ ญาติยังมีส่วนสำคัญในการสังเกตว่าผู้ที่เป็นมีอาการกลับเป็นซ้ำหรือไม่ โดยในช่วงแรกที่อาการยังไม่มาก ผู้ที่เป็นจะไม่ทราบว่าตนเองเปลี่ยนแปลงไป
โรคอารมณ์สองขั้วเกิดจากความผิดปกติทางสมอง ไม่ได้เกิดจากคิดมากหรือพ่อแม่เลี้ยงดูไม่ดี โรครักษาได้ ยาใหม่ๆ มีมาก หากไม่แน่ใจว่าตนเองเป็นหรือ เปล่าก็ไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาก่อนก็ได้ คนที่เป็นแล้วก็ควรติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ มีปัญหาอะไร ก็บอกแพทย์ เพื่อที่จะได้ปรับให้ผลการรักษาออกมาดีที่สุด ญาติมีส่วนสำคัญมาก พบว่าผู้ป่วยที่ญาติเข้าใจสนับสนุนให้กำลังใจ จะมีอาการโดยรวมแกว่งไกวน้อยกว่าครอบครัวที่ไม่เข้าใจหรือไม่สนใจผู้ป่วย


โรคซึมเศร้ากับดารา

ช่วงนี้มีข่าว ช็อคโลก และ น่าเศร้า อย่างมาก 
คือ การฆ่าตัวตาย ของ โรบิน วิลเลียมส์ 
(Robin Williams)
นักแสดงคุณภาพของ ฮอลลีวู้ด 
ซึ่งเป็นขวัญใจของใครหลายคน และ กระแสข่าวหนึ่ง (ซึ่งอาจจะไม่ถูกต้องท้้งหมด)
ได้กล่าวถึงสาเหตุการฆ่าตัวตายครั้งนี้ว่ามาจาก "โรคซึมเศร้า"
ส่วนข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการเสียชีวิตแท้จริงเป็นอย่างไร คนวงในเท่านั้นที่จะทราบ...
แต่ในส่วนของตัวเราเองการเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้
สามารถเป็นประโยชน์กับตัวเราเองและคนรอบข้างค่ะ 
ว่าโรคซึมเศร้าคืออะไร ทำให้เกิดการฆ่าตัวตายได้อย่างไร 
และ แนวทางการดูแลรักษาโรคนี้อย่างถูกวิธีคืออะไรค่ะ
"อารมณ์ซึมเศร้า" เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้นะคะ 
ในชีวิตเราทุกคนล้วนมีช่วงเวลาเศร้าบ้าง ทุกข์ใจบ้างเป็นธรรมดานะคะ
แต่เมื่อไหร่ล่ะ เราถึงจะบอกว่า ความเศร้านี้ ไม่ใช่ปฏิกิริยาทางใจธรรมดาเสียแล้ว
แต่คือ "โรคซึมเศร้า"
โรคซึมเศร้า ประกอบด้วยอาการต่างๆดังนี้ค่ะ 
1.
อารมณ์ซึมเศร้า หงุดหงิด ไม่สดชื่น มีอาการเกือบตลอดวัน
2. ขาดความสนใจสิ่งรอบข้าง สิ่งที่เคยชอบ ก็ไม่สนใจ เบื่อหน่ายไปหมด
3. เบื่ออาหาร น้ำหนักลด กินน้อยลง หรือ บางคนอาจเป็นแบบตรงข้ามคือ กินจุมากขึ้น น้ำหนักเปลี่ยนแปลง ร้อยละ 5 ใน 1 เดือน
4. นอนไม่หลับ นอนได้น้อยลง หรือ บางคนตรงข้ามกลายเป็น นอนมากขึ้น นอนทั้งวัน
5. เชื่องช้า ทำอะไรก็เชื่องช้าไปหมด หรือ บางคนอาจเป็นตรงข้ามกระวนกระวายกว่าปกติ
6. รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่ค่อยมีเรี่ยวมีแรง
7. ตำหนิตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า หรือ รู้สึกผิดง่ายกว่าปกติ 
อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ ที่พบได้มากในคนเป็นโรคซึมเศร้าค่ะ
8. สมาธิเสีย ทำอะไร ไม่ค่อยมีสมาธิ รู้สึกลังเล สงสัยมากขึ้นกว่าปกติ
9. คิดเรื่องการฆ่าตัวตาย หรือ อยากฆ่าตัวตาย 
ข้อนี้สำคัญมากค่ะ หากมีการพยายามฆ่าตัวตาย 
ตั้งข้อสันนิษฐานว่า คนนั้นอาจเป็นโรคซึมเศร้า นะคะ
อาการที่กล่าวมาไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอาการถึงบ่งบอกว่าเป็นโรคซึมเศร้านะคะ
โดยมีอย่างน้อยอาการ 5 อาการใน 9 อาการที่กล่าวมา 
และ ต้องเป็นต่อเนื่องทุกวันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ขึ้นไป
ถึงจะสงสัยว่าจะเกิดโรคซึมเศร้าค่ะ
โรคนี้ไม่ได้เป็นโรคที่น่ากลัว มีทางรักษาให้หายได้ค่ะ 
ยิ่งมารักษาแต่ต้นๆจะยิ่งรักษาได้ผลดีค่ะ
โดยแพทย์ที่เชี่ยวชาญการรักษาโรคนี้ คือ จิตแพทย์ค่ะ 
วิธีการรักษามีดังนี้ค่ะ
1. การทานยาต้านเศร้า
เนื่องจากโรคนี้ เกี่ยวข้องกับสารเคมีในสมองด้านอารมณ์เศร้าที่เสียสมดุลไป 
(
สารเคมีในสมองที่เกี่ยวข้องหลักๆ คือ สารเซโรโทนิน และ นอร์อีพิเนฟฟรีน) 
จึงทำให้เกิดความซึมเศร้ามากผิดปกติค่ะ 
ทั้งที่เจ้าตัวก็ไม่ได้อยากเศร้าขนาดนี้ แต่อารมณ์เศร้าปริมาณมากเกิดขึ้นเอง เป็นไปเอง ห้ามไม่ได้
เพราะ เกิดขึ้นเนื่องจาก สารเคมีในสมองเกียวกับเรื่องอารมณ์เศร้า เสียสมดุล
ดังที่ได้กล่าวข้างต้นค่ะ
การทานยาต้่านเศร้า จะช่วยให้สารเคมีเหล่านี้ กลับมาสมดุลค่ะ เพราะ ยาจะเข้าไปช่วยปรับให้สารเคมีในสมอง ที่เสียสมดุลไปจนเกิดอารมณ์เศร้ามากผิดปกติ เข้าสู่ภาวะปกติค่ะ
เมื่อสารเหล่านี้เข้าสู่ภาวะปกติ อารมณ์ใจคอก็จะกลับมาเป็นปกติ เป็นคนเดิมค่ะ
(
จากเดิมที่เคยเป็นคนร่าเริง จะกลับมาเป็นคนร่าเริงเหมือนเดิมได้ค่ะ)
และเป็นโชคดีของคนยุคนี้นะคะ 
เพราะ วิทยาการแพทย์สมัยใหม่ มีการพัฒนายาต้านเเศร้าใหม่ๆออกมามากขึ้น ซึ่งประสิทธิภาพดีขึ้นและผลข้างเคียงน้อยลงมากค่ะ
แต่ถ้าทานยาแล้วพบผลข้างเคียงแจ้งแพทย์ที่รักษาได้เลยนะคะ 
แพทย็จะได้ปรับยาให้เหมาะสมที่สุดค่ะ
2. การรักษาทางจิตใจ
เช่นการทำจิตบำบัด ปรับวิธีคิด หรือ แก้ปมในจิตใจ 
ซึ่งเป็นวิธีรักษาควบคู่กับการทานยาต้านเศร้าค่ะ
เพราะถ้าอาศัยด้วยการรักษาทางจิตใจอย่างเดียว อาจช่วยได้ไม่เต็มทีค่ะ 
เพราะ สาเหตุหลักการเกิดโรคนี้ เกิดจากสารเคมีอารมณ์เศร้าในสมองเสียสมดุลค่ะ
แต่การบำบัดทางจิตใจร่วมประกอบด้วยจะช่วยให้ การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้นค่ะ
เพราะ กายกับใจ มีผลต่อกันค่ะ
การทานยาคือการรักษาทางกาย ส่วนจิตบำบัดคือการรักษาทางใจค่ะ
3. การอยู่โรงพยาบาล 
โดยเฉพาะในกรณีที่มีความเสี่ยงเรื่องการฆ่าตัวตาย
คือ ถ้ามีความเสี่ยงการฆ่าตัวตายสูง จำเป็นต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล 
เพื่อให้ผ่านพ้นช่วงภาวะ วิกฤติ และความรู้สึกอยากตาย
เพราะเพียงเสี้ยววินาที ของผู้ที่มีโรคซึมเศร้าอย่างหนัก
อาจตัดสินใจที่ไม่เหมาะสม เกิดการฆ่าตัวตายได้
ภาวะวิกฤติแบบนี้การอยู่โรงพยาบาลจะปลอดภัยกว่าค่ะ
4. การดูแลตัวเองสำหรับผู้ป่วยซึมเศร้า
- ไม่ควรตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆในชีวิต เพราะ โอกาสตัดสินผิดพลาดสูงมากค่ะ เพราะ อารมณ์ไม่ได้อยู่ในภาวะปกติค่ะ
- พยายามไม่คิดอะไรมากๆยาวๆ เพราะ ยิ่งคิดจะวนกลับไปเป็นด้านลบ ด้วยตัวโรค
- หากิจกรรมสบายๆทำ ที่ไม่เครียดไม่กดดัน
- อย่ากดดัน เร่งรัดตัวเองว่าต้องรีบหายค่ะ รักษาตัวเองอย่างถูกวิธีอาการดีขึ้นเองค่ะ
สำหรับญาติ
- อย่าเร่งรัด คาดหวัง ให้ผู้ป่วยรีบหาย 
เพราะ ยิ่งสร้างความกดดัน 
เพราะจริงๆผู้ป่วยเองก็ไมได้อยากเศร้า ความเศร้าเกิดขึ้นเอง 
แต่การดูแลถูกวิธี ทานยา และ พบแพทย์สม่ำเสมอ จะช่วยให้อาการค่อยๆทุเลาลง จนหายไปในที่สุดคะ
- เป็นกำลังใจ
โดยเปลี่ยนจากความคาดหวัง เป็น ความเข้าใจ ตรงนี้จะช่วยผู้ป่วยได้มากกว่าค่ะ
- ค่อยๆ ชวนผู้ป่วยทำกิจกรรมที่สบายๆ ไม่กดดัน เพลิดเพลินใจ
(
แต่ตรงนี้ต้องระวัง อย่าคะยั้่นคะยอ 
ถ้าผู้ป่วยยังไม่พร้อม จะทำให้ความหวังดีกลายเป็นความกดดัน โดยไม่รู้ตัวค่ะ)
- เฝ้าระวัง เรื่องการฆ่าตัวตาย 
ถ้าเห็นท่าไม่ดี ผู้ป่วยเริ่มคิดถึงเรื่องการอยากตาย 
เก็บอาวุธที่อาจเป็นอันตราย ดูแลใกล้ชิดและ พามาพบแพทย์ก่อนนัดได้ค่ะ
ด้วยความรัก ความเข้าใจ และ การดูแลรักษาอย่างถูกวิธี 
จะช่วยให้ผู้ป่วย และ ญาติผ่านพ้นช่วงเวลาเหล่านี้ไปได้ค่ะ
หมายเหตุ: แนบเว็บไซด์ที่มีแบบสอบถามภาวะอารมณ์เศร้า
โดย ศ.นพ.มาโนช หล่อตระกูล 
ตามเว็บไซค์นี้คะ
เกณฑ์การให้คะแนน ดังนี้
นำคะแนนข้อ 1-9 มารวมกัน เทียบความรุนแรงตามข้างล่างนี้
5-8
มีอาการเล็กน้อย
9-14
โรคซึมเศร้าขั้นอ่อน
15-19
โรคซึมเศร้า ขั้นปานกลาง
ตั้งแต่ 20 ไป โรคซึมเศร้าขั้นรุนแรง
**** ค่าคะแนนและความรุนแรงดังกล่าวเป็นเพียงการเปรียบลำดับอาการ 
ไม่ได้บ่งบอกถึงการวินิจฉัย
การที่จะบอกว่าท่านเป็นโรคซึมเศร้า หรือไม่ต้องให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัย 
เพราะมีโรคต่างๆ หลายโรคที่ทำให้มีอาการเช่นนี้ได้ 
รวมทั้งโรคทางร่างกายและยาหรือสารต่างๆ
เครดิต : แบบสอบถามภาวะอารมณ์ โดย ศ.นพ. มาโนช หล่อตระกูล
ท้ายนี้ 
".....
ขอไว้อาลัยการจากไป ของ Robin Williams ค่ะ....."
ขอบคุณข้อมูลจากสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย