BIPOLAR DISORDER โรคอารมณ์แปรปรวน

โรคอารมณ์แปรปรวนชนิด Bipolar Disorder

โรคไบโพล่าร์เป็นโรคชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดความผิดปกติของอารมณ์ โรคนี้มีหลายชื่อเช่น โรคอารมณ์ แปรปรวน , manic-depressive disorder, bipolar affective disorder, bipolar disorder ในปัจจุบันชื่อเป็นทางการคือ โรคไบโพล่าร์ (bipolar disorder)

ลักษณะสำคัญของโรคนี้คืออาการผิดปกติของอารมณ์ที่เกิดขึ้นนั้นอาจเป็นแบบซึมเศร้า (depressive episode หรือ depression) หรือตรงข้ามกับซึมเศร้าคืออารมณ์ดีผิดปกติ (manic episode หรือ mania) ก็ได้

อาการซึมเศร้า (depressive episode)
อาการซึมเศร้าที่เกิดขึ้นในโรคไบโพล่าร์จะเหมือนกับอาการของโรคซึมเศร้า (major depressive disorder) ทุกประการนั่นคืออยู่ๆผู้ป่วยก็กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ร้องไห้ง่าย คิดแต่เรื่องร้ายๆ รู้สึกเศร้าๆ ไม่แจ่มใส เบื่อหน่ายไปหมดทุกเรื่อง ไม่รู้สึกดีใจเวลามีอะไรดีๆเกิดขึ้น ไม่อยากได้อะไร ไม่มีความสุข เก็บเนื้อเก็บตัวไม่อยากพบหน้าใคร บางคนจะหงุดหงิดโมโหง่าย เบื่อชีวิต อยากตาย บางคนถึงกับฆ่าตัวตาย มีอาการอยู่แทบทุกวันเป็นหลายๆสัปดาห์หรือเป็นเดือน ในช่วงซึมเศร้าผู้ป่วยมักรู้ว่าตนกำลังป่วยนอกจาก ในรายที่เป็นมากๆ

อาการตรงข้ามกับซึมเศร้า (manic episode)
เมื่อเกิดอาการตรงข้ามกับซึมเศร้าผู้ป่วยจะมีอารมณ์ดีผิดปกติ พูดมาก หัวเราะง่าย ชอบเข้าไปวุ่นวายกับคนอื่น จนบางครั้งเกิดเรื่องเกิดราว ใช้เงินเปลืองเพราะเห็นอะไรก็น่าซึ้อไปหมดและก็จะซื้อทีละเยอะๆด้วย รู้สึกว่า ตนเองเก่ง หล่อ สวย หรือเป็นคนสำคัญผิดปกติ ในช่วงที่ป่วยผู้ป่วยจะรู้สึกขยันขันแข็งอยากทำอะไรมากมายไปหมดและมีความต้องการที่จะนอนน้อยลง บางรายมีอารมณ์หงุดหงิดก้าวร้าวมาก ผู้ป่วยบางรายมีความต้องการทางเพศมาก บางรายมีอาการของโรคจิตด้วยคือมีความหลงเชื่อผิดเช่นคิดว่าผู้ป่วยเป็นคนสำคัญในอดีตกลับชาติมาเกิด หรือมีหูแว่วมาชมผู้ป่วยว่าหล่อจัง ผู้ป่วยมักไม่รู้ว่าตนกำลังป่วยและมักปฏิเสธการรักษา
ผู้ป่วยหลายๆรายติดอกติดใจในความสุขที่เกิดขึ้นในช่วงที่กำลังมีอาการตรงข้ามกับซึมเศร้าทำให้ไม่อยาก กินยาเพราะกินแล้ว "ไม่สนุก"

อาการที่สำคัญที่จะบอกว่าผู้ป่วยป่วยเป็นโรคไบโพล่าร์คือจะต้องมีอาการตรงข้ามกับซึมเศร้าอย่างน้อย 1 ครั้ง โดยที่ผู้ป่วยอาจจะมีอาการซึมเศร้าเป็นบางครั้งร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ รายที่เป็นทีไรก็ซึมเศร้าทุกทีไม่เคยมีอาการตรงข้ามกับซึมเศร้าเลยนั้นเราเรียกว่าเป็นโรคซึมเศร้าซึ่งการรักษา จะต่างกับโรคไบโพล่าร์ อย่างไรก็ดีผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าในช่วงหลังคลอดมักมีโอกาสสูงที่จะเกิดอาการ ตรงข้ามกับซึมเศร้าขึ้นในภายหลัง

โรคไบโพล่าร์นั้นมักเริ่มเป็นก่อนวัยกลางคน บางรายเริ่มเป็นตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 20 ปี แต่ก็มีบางรายที่มาเริ่ม เป็นหลังอายุ 40 ปีได้ โรคไบโพล่าร์เป็นโรคที่มีปัจจัยทางพันธุกรรมมาเกี่ยวข้องค่อนข้างมากโดยพบว่าเมื่อลองถามประวัติให้ดีๆ มักจะพบว่ามีคนอื่นบางคนในวงศ์ญาติป่วยเป็นโรคไบโพล่าร์และลูกหลานของผู้ที่ป่วยเป็นโรคไบโพล่าร์มี โอกาสที่จะป่วยเป็นโรคไบโพล่าร์ได้มากกว่าคนทั่วไป

ในปัจจุบันเชื่อว่าโรคไบโพล่าร์เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมองโดยมีสารสื่อนำประสาทที่ไม่สมดุลย์ คือมีสารซีโรโทนิน (serotonin) น้อยเกินไปและสารนอร์เอปิเนฟริน (epinephrine) มากเกินไป ดังนั้นเราจึงสามารถรักษาโรคนี้ได้ด้วยยา ยาที่ใช้รักษาโรคไบโพล่าร์ได้แก่ยาในกลุ่มยาควบคุมอารมณ์ (mood stabilizers), ยาแก้โรคจิต (antipsychotics), และยาแก้โรคซึมเศร้า (antidepressants)

ข้อมูลความรู้จากเรื่องโรคอารมณ์แปรปรวน
ผศ.นพ.สเปญ อุ่นอนงค์