โรคซึมเศร้ากับดารา

ช่วงนี้มีข่าว ช็อคโลก และ น่าเศร้า อย่างมาก 
คือ การฆ่าตัวตาย ของ โรบิน วิลเลียมส์ 
(Robin Williams)
นักแสดงคุณภาพของ ฮอลลีวู้ด 
ซึ่งเป็นขวัญใจของใครหลายคน และ กระแสข่าวหนึ่ง (ซึ่งอาจจะไม่ถูกต้องท้้งหมด)
ได้กล่าวถึงสาเหตุการฆ่าตัวตายครั้งนี้ว่ามาจาก "โรคซึมเศร้า"
ส่วนข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการเสียชีวิตแท้จริงเป็นอย่างไร คนวงในเท่านั้นที่จะทราบ...
แต่ในส่วนของตัวเราเองการเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้
สามารถเป็นประโยชน์กับตัวเราเองและคนรอบข้างค่ะ 
ว่าโรคซึมเศร้าคืออะไร ทำให้เกิดการฆ่าตัวตายได้อย่างไร 
และ แนวทางการดูแลรักษาโรคนี้อย่างถูกวิธีคืออะไรค่ะ
"อารมณ์ซึมเศร้า" เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้นะคะ 
ในชีวิตเราทุกคนล้วนมีช่วงเวลาเศร้าบ้าง ทุกข์ใจบ้างเป็นธรรมดานะคะ
แต่เมื่อไหร่ล่ะ เราถึงจะบอกว่า ความเศร้านี้ ไม่ใช่ปฏิกิริยาทางใจธรรมดาเสียแล้ว
แต่คือ "โรคซึมเศร้า"
โรคซึมเศร้า ประกอบด้วยอาการต่างๆดังนี้ค่ะ 
1.
อารมณ์ซึมเศร้า หงุดหงิด ไม่สดชื่น มีอาการเกือบตลอดวัน
2. ขาดความสนใจสิ่งรอบข้าง สิ่งที่เคยชอบ ก็ไม่สนใจ เบื่อหน่ายไปหมด
3. เบื่ออาหาร น้ำหนักลด กินน้อยลง หรือ บางคนอาจเป็นแบบตรงข้ามคือ กินจุมากขึ้น น้ำหนักเปลี่ยนแปลง ร้อยละ 5 ใน 1 เดือน
4. นอนไม่หลับ นอนได้น้อยลง หรือ บางคนตรงข้ามกลายเป็น นอนมากขึ้น นอนทั้งวัน
5. เชื่องช้า ทำอะไรก็เชื่องช้าไปหมด หรือ บางคนอาจเป็นตรงข้ามกระวนกระวายกว่าปกติ
6. รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่ค่อยมีเรี่ยวมีแรง
7. ตำหนิตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า หรือ รู้สึกผิดง่ายกว่าปกติ 
อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ ที่พบได้มากในคนเป็นโรคซึมเศร้าค่ะ
8. สมาธิเสีย ทำอะไร ไม่ค่อยมีสมาธิ รู้สึกลังเล สงสัยมากขึ้นกว่าปกติ
9. คิดเรื่องการฆ่าตัวตาย หรือ อยากฆ่าตัวตาย 
ข้อนี้สำคัญมากค่ะ หากมีการพยายามฆ่าตัวตาย 
ตั้งข้อสันนิษฐานว่า คนนั้นอาจเป็นโรคซึมเศร้า นะคะ
อาการที่กล่าวมาไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอาการถึงบ่งบอกว่าเป็นโรคซึมเศร้านะคะ
โดยมีอย่างน้อยอาการ 5 อาการใน 9 อาการที่กล่าวมา 
และ ต้องเป็นต่อเนื่องทุกวันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ขึ้นไป
ถึงจะสงสัยว่าจะเกิดโรคซึมเศร้าค่ะ
โรคนี้ไม่ได้เป็นโรคที่น่ากลัว มีทางรักษาให้หายได้ค่ะ 
ยิ่งมารักษาแต่ต้นๆจะยิ่งรักษาได้ผลดีค่ะ
โดยแพทย์ที่เชี่ยวชาญการรักษาโรคนี้ คือ จิตแพทย์ค่ะ 
วิธีการรักษามีดังนี้ค่ะ
1. การทานยาต้านเศร้า
เนื่องจากโรคนี้ เกี่ยวข้องกับสารเคมีในสมองด้านอารมณ์เศร้าที่เสียสมดุลไป 
(
สารเคมีในสมองที่เกี่ยวข้องหลักๆ คือ สารเซโรโทนิน และ นอร์อีพิเนฟฟรีน) 
จึงทำให้เกิดความซึมเศร้ามากผิดปกติค่ะ 
ทั้งที่เจ้าตัวก็ไม่ได้อยากเศร้าขนาดนี้ แต่อารมณ์เศร้าปริมาณมากเกิดขึ้นเอง เป็นไปเอง ห้ามไม่ได้
เพราะ เกิดขึ้นเนื่องจาก สารเคมีในสมองเกียวกับเรื่องอารมณ์เศร้า เสียสมดุล
ดังที่ได้กล่าวข้างต้นค่ะ
การทานยาต้่านเศร้า จะช่วยให้สารเคมีเหล่านี้ กลับมาสมดุลค่ะ เพราะ ยาจะเข้าไปช่วยปรับให้สารเคมีในสมอง ที่เสียสมดุลไปจนเกิดอารมณ์เศร้ามากผิดปกติ เข้าสู่ภาวะปกติค่ะ
เมื่อสารเหล่านี้เข้าสู่ภาวะปกติ อารมณ์ใจคอก็จะกลับมาเป็นปกติ เป็นคนเดิมค่ะ
(
จากเดิมที่เคยเป็นคนร่าเริง จะกลับมาเป็นคนร่าเริงเหมือนเดิมได้ค่ะ)
และเป็นโชคดีของคนยุคนี้นะคะ 
เพราะ วิทยาการแพทย์สมัยใหม่ มีการพัฒนายาต้านเเศร้าใหม่ๆออกมามากขึ้น ซึ่งประสิทธิภาพดีขึ้นและผลข้างเคียงน้อยลงมากค่ะ
แต่ถ้าทานยาแล้วพบผลข้างเคียงแจ้งแพทย์ที่รักษาได้เลยนะคะ 
แพทย็จะได้ปรับยาให้เหมาะสมที่สุดค่ะ
2. การรักษาทางจิตใจ
เช่นการทำจิตบำบัด ปรับวิธีคิด หรือ แก้ปมในจิตใจ 
ซึ่งเป็นวิธีรักษาควบคู่กับการทานยาต้านเศร้าค่ะ
เพราะถ้าอาศัยด้วยการรักษาทางจิตใจอย่างเดียว อาจช่วยได้ไม่เต็มทีค่ะ 
เพราะ สาเหตุหลักการเกิดโรคนี้ เกิดจากสารเคมีอารมณ์เศร้าในสมองเสียสมดุลค่ะ
แต่การบำบัดทางจิตใจร่วมประกอบด้วยจะช่วยให้ การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้นค่ะ
เพราะ กายกับใจ มีผลต่อกันค่ะ
การทานยาคือการรักษาทางกาย ส่วนจิตบำบัดคือการรักษาทางใจค่ะ
3. การอยู่โรงพยาบาล 
โดยเฉพาะในกรณีที่มีความเสี่ยงเรื่องการฆ่าตัวตาย
คือ ถ้ามีความเสี่ยงการฆ่าตัวตายสูง จำเป็นต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล 
เพื่อให้ผ่านพ้นช่วงภาวะ วิกฤติ และความรู้สึกอยากตาย
เพราะเพียงเสี้ยววินาที ของผู้ที่มีโรคซึมเศร้าอย่างหนัก
อาจตัดสินใจที่ไม่เหมาะสม เกิดการฆ่าตัวตายได้
ภาวะวิกฤติแบบนี้การอยู่โรงพยาบาลจะปลอดภัยกว่าค่ะ
4. การดูแลตัวเองสำหรับผู้ป่วยซึมเศร้า
- ไม่ควรตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆในชีวิต เพราะ โอกาสตัดสินผิดพลาดสูงมากค่ะ เพราะ อารมณ์ไม่ได้อยู่ในภาวะปกติค่ะ
- พยายามไม่คิดอะไรมากๆยาวๆ เพราะ ยิ่งคิดจะวนกลับไปเป็นด้านลบ ด้วยตัวโรค
- หากิจกรรมสบายๆทำ ที่ไม่เครียดไม่กดดัน
- อย่ากดดัน เร่งรัดตัวเองว่าต้องรีบหายค่ะ รักษาตัวเองอย่างถูกวิธีอาการดีขึ้นเองค่ะ
สำหรับญาติ
- อย่าเร่งรัด คาดหวัง ให้ผู้ป่วยรีบหาย 
เพราะ ยิ่งสร้างความกดดัน 
เพราะจริงๆผู้ป่วยเองก็ไมได้อยากเศร้า ความเศร้าเกิดขึ้นเอง 
แต่การดูแลถูกวิธี ทานยา และ พบแพทย์สม่ำเสมอ จะช่วยให้อาการค่อยๆทุเลาลง จนหายไปในที่สุดคะ
- เป็นกำลังใจ
โดยเปลี่ยนจากความคาดหวัง เป็น ความเข้าใจ ตรงนี้จะช่วยผู้ป่วยได้มากกว่าค่ะ
- ค่อยๆ ชวนผู้ป่วยทำกิจกรรมที่สบายๆ ไม่กดดัน เพลิดเพลินใจ
(
แต่ตรงนี้ต้องระวัง อย่าคะยั้่นคะยอ 
ถ้าผู้ป่วยยังไม่พร้อม จะทำให้ความหวังดีกลายเป็นความกดดัน โดยไม่รู้ตัวค่ะ)
- เฝ้าระวัง เรื่องการฆ่าตัวตาย 
ถ้าเห็นท่าไม่ดี ผู้ป่วยเริ่มคิดถึงเรื่องการอยากตาย 
เก็บอาวุธที่อาจเป็นอันตราย ดูแลใกล้ชิดและ พามาพบแพทย์ก่อนนัดได้ค่ะ
ด้วยความรัก ความเข้าใจ และ การดูแลรักษาอย่างถูกวิธี 
จะช่วยให้ผู้ป่วย และ ญาติผ่านพ้นช่วงเวลาเหล่านี้ไปได้ค่ะ
หมายเหตุ: แนบเว็บไซด์ที่มีแบบสอบถามภาวะอารมณ์เศร้า
โดย ศ.นพ.มาโนช หล่อตระกูล 
ตามเว็บไซค์นี้คะ
เกณฑ์การให้คะแนน ดังนี้
นำคะแนนข้อ 1-9 มารวมกัน เทียบความรุนแรงตามข้างล่างนี้
5-8
มีอาการเล็กน้อย
9-14
โรคซึมเศร้าขั้นอ่อน
15-19
โรคซึมเศร้า ขั้นปานกลาง
ตั้งแต่ 20 ไป โรคซึมเศร้าขั้นรุนแรง
**** ค่าคะแนนและความรุนแรงดังกล่าวเป็นเพียงการเปรียบลำดับอาการ 
ไม่ได้บ่งบอกถึงการวินิจฉัย
การที่จะบอกว่าท่านเป็นโรคซึมเศร้า หรือไม่ต้องให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัย 
เพราะมีโรคต่างๆ หลายโรคที่ทำให้มีอาการเช่นนี้ได้ 
รวมทั้งโรคทางร่างกายและยาหรือสารต่างๆ
เครดิต : แบบสอบถามภาวะอารมณ์ โดย ศ.นพ. มาโนช หล่อตระกูล
ท้ายนี้ 
".....
ขอไว้อาลัยการจากไป ของ Robin Williams ค่ะ....."
ขอบคุณข้อมูลจากสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย